ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อความเชื่อมั่นหอการค้าไทย-จีน ไตรมาส 2/2567 การท่องเที่ยวเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อความเชื่อมั่นหอการค้าไทย-จีน ไตรมาส 2/2567 การท่องเที่ยวเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทย ฟรีวีซ่าไทย-จีน เป็นสัญญานความร่วมมือที่ดี และจะส่งผลต่อการค้าการลงทุนระหว่างไทยและจีนดีขึ้น
นายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการ หอการค้าไทย-จีน เปิดเผยว่า หอการค้าไทย-จีน ได้ทำการสำรวจสรุปดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยจีนประจำไตรมาสที่สองปี 2567 ระหว่างวันที่ 15 ถึง 20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยผู้ตอบการสำรวจประกอบด้วย ประธาน คณะกรรมการกิตติมศักดิ์ คณะกรรมการบริหาร และกรรมการหอการค้าไทยจีน ผู้บริหารและกรรมการสมาพันธ์หอการค้าไทยจีน และกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ของหอการค้าไทยจีนอีก เป็นจำนวนทั้งหมด 476 คน ที่ตอบแบบสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นดังกล่าว
จากการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2567 หลายสำนักวิจัยคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะมีการเจริญเติบโตอยู่ในช่วงระหว่างร้อยละ 2.7 ถึง 3.7 จากการสำรวจที่ได้แบ่งช่วงต่างๆเพื่อการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยพบว่า ร้อยละ 58 ของผู้ถูกสำรวจคาดว่า เศรษฐกิจไทยจะเติบโตระหว่างร้อยละ 2.7 ถึง 3.2 และ ร้อยละ 15 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะโตระหว่างร้อยละ 3.2 ถึง 3.7 ผู้ถูกสำรวจยังมีความเห็นว่าการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2567 นั้นจะถูกขับเคลื่อนด้วยการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก และการจับจ่ายใช้สอยของภาคประชาชนจะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญในลำดับรองมา ส่วนการใช้จ่ายของภาครัฐจะเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญน้อยที่สุดสำหรับปีนี้
จากการคาดการณ์การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่น่าจะ อยู่ระหว่างร้อยละ 2.7 ถึง 3.7 นั้น ความเสี่ยงที่ควรต้องเฝ้าระวังนั้น ผู้ถูกสำรวจให้ความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวเป็นปัจจัยที่มีความเสี่ยงสำคัญที่สุดต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทย ทั้งนี้มีอีกสามปัจจัยที่จะมีผลต่อความเสี่ยงของการเจริญเติบโตประกอบด้วย ความขัดแย้งระหว่างประเทศจนก่อให้เกิดภาวะสงคราม ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่จะมาทำหน้าที่แทนแรงงาน และความคิดที่แตกต่างกันระหว่างกลุ่มคนต่างวัย ตามลำดับ
ทางด้านแนวโน้มอัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 45.6 ของผู้ถูกสำรวจคาดว่าอัตราดอกเบี้ยจะมีการปรับลดลงในอีกสามเดือนหน้า ขณะที่ร้อยละ 29.8 คาดว่าอัตราดอกเบี้ยน่าจะปรับตัวลดลงภายหลังสามเดือน ซึ่งกล่าวได้ว่าผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่เล็งเห็นว่าแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยน่าจะปรับตัวลดลงในอีกไม่นาน
การสำรวจข้อคิดเห็นในส่วนความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีน มีดังนี้ จากการที่ไทยได้ให้ฟรีวีซ่ากับชาวจีนเมื่อปลายปี 2566 และจีนเองให้ฟรีฟรีซ่ากับชาวไทยตั้งแต่ 1 มีนาคม ในปีนี้ ร้อยละ 67 ของผู้ถูกสำรวจคิดว่าการให้ฟรีวีซ่าเป็นสัญญาณความร่วมมือที่ดีระหว่างประเทศและส่งผลทำให้แนวโน้มการค้าการลงทุนระหว่างไทยและจีนจะดีขึ้น และร้อยละ 28 ของผู้ตอบแบบสำรวจเล็งเห็นว่าความสัมพันธ์ดังกล่าวจะทำให้การค้าการลงทุนระหว่างไทยและจีนอยู่ในระดับดีขึ้นมาก เมื่อได้ถามถึงอุตสาหกรรมใดที่ไทยน่าจะชวนจีนมาร่วมลงทุนในปี 2567 อันดับแรกคืออุตสาหกรรมเครื่องจักรและยานยนต์ ส่วนในลำดับต่อมา คือ อุตสาหกรรมดิจิตอลและพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมเกษตร อาหาร และเทคโนโลยีชีวภาพ ตามลำดับ
เมื่อสอบถามว่าการชะลอตัวของจีนตลอดระยะเวลาสองปีที่ผ่านมาจะมีผลกระทบทางลบต่อธุรกิจนำเข้าและส่งออกของไทยด้านใด ร้อยละ 30.6 ของผู้ถูกสำรวจ ให้ความเห็นว่าอุตสาหกรรมเหล็ก และผลิตภัณฑ์เหล็ก จะได้รับผลกระทบสูงที่สุดขณะที่ร้อยละ 26.2 ลงความเห็นว่าเป็นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
เนื่องด้วยอุตสาหกรรมยานยนต์มีแนวโน้มที่จะมีการพัฒนาพัฒนาไปสู่การผลิตรถยนต์ไฟฟ้า นโยบายของประเทศไทยจึงมีเป้าหมายการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าได้อย่างน้อย ร้อยละ 30 ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดในปี 2573 เพื่อให้อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าได้เติบโตเข้าเป้าหมาย ร้อยละ 57.3 ของผู้ตอบแบบสำรวจ เห็นว่าเป้าหมายนั้นเป็นไปได้หากอุตสาหกรรมยานยนต์จีนมาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น ขณะที่ร้อยละ 34 ให้ความเห็นว่าให้ความสำคัญต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ของญี่ปุ่นและชาติตะวันตกมาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้นด้วย เป้าหมายดังกล่าวจึงจะบรรลุได้
นอกจากนี้ นายณรงค์ศักดิ์ กล่าวเสริมว่า การที่ประเทศจีนกำหนดเป้าหมายการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในปี 2567 ที่ อัตรา 5% และเพิ่มอัตราการจ้างงานใหม่มากกว่า 12 ล้านคน รวมถึงส่งเสริมการเปิดประเทศซึ่งจะขยายการนำเข้าสินค้าคุณภาพสูงจากต่างประเทศด้วยนั้น คาดว่าจะเป็นโอกาสสำหรับการขยายการส่งออกสินค้า ของไทยไปจีน และหากพิจารณาภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของจีน ในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม-กุมภาพันธ์ 2567) มีทิศทางที่ดี ตามที่ศุลกากรจีนรายงานว่าการค้าระหว่างประเทศของจีนขยายตัว 8.7% มีมูลค่าการค้ารวม 6.61 ล้านล้านหยวน (หรือประมาณ 930.96 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) ส่วนการส่งออกของจีนขยายตัว 10.30% มีมูลค่าการส่งออก 3.75 ล้านล้านหยวน และการนำเข้าขยายตัว 6.7% มีมูลค่ากรนำเข้า 2.86 ล้านล้านหยวน
ส่วนประเทศไทยเป็นคู่ค้าอันดับ 3 ของจีนในกลุ่มอาเซียน ช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2567 การค้ารวมระหว่างประเทศจีนและไทย ขยายตัว 5.9% มีมูลค่า 133210 ล้านหยวน (หรือประมาณ 18747.1 ล้านเหรียญสหรัฐ) การส่งออกของจีนไปยังประเทศไทย ขยายตัว 11.6% มีมูลค่า 88460 ล้านหยวน ส่วนการนำเข้าของจีนจากไทย หดตัว 3.8% มีมูลค่า 44750 ล้านหยวน นายณรงค์ศักดิ์ กล่าว