ธ.ก.ส. เฟ้นหาสุดยอดชุมชนอุดมสุข ระดับประเทศ ปีที่ 3
ธ.ก.ส. จัดประกวดชุมชนอุดมสุขที่ยั่งยืน ระดับประเทศ ประจำปี 2566 โดยเฟ้นหาชุมชนอุดมสุข ระดับภูมิภาค จำนวน 9 ชุมชนมาประกวดกันในรอบสุดท้าย ลุ้นรางวัลชนะเลิศ มูลค่า 100000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศและรางวัลอื่น ๆ ภายใต้สโลแกน “กินอิ่ม นอนอุ่น หุ่นดี ทุนมี หนี้ลด หมดทุกข์” เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ฐานรากผ่านการพัฒนาชุมชน ภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง รวมถึงการใช้ชุมชนเป็นศูนย์กลางในการพัฒนา ทั้งมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ประเพณีวัฒนธรรม ตามแนวทาง BCG Model และการมุ่งไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการยกระดับชุมชนอย่างยั่งยืน วันนี้ ( 19 ธันวาคม 2566 ) ณ ห้องโถง ชั้น 2 อาคารทาวเวอร์ ธ.ก.ส. สำนักงานใหญ่ กรุงเทพมหานคร
นายสุนทร ตาละลักษณ์ กรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และคณะอนุกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานในพิธีเปิดการประกวดชุมชนอุดมสุขที่ยั่งยืนยอดเยี่ยม ระดับประเทศ ประจำปีบัญชี 2566 ซึ่งจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ภายใต้สโลแกน “กินอิ่ม นอนอุ่น หุ่นดี ทุนมี หนี้ลด หมดทุกข์” เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากผ่านการพัฒนาชุมชนภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ผ่านการใช้ชุมชนเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาและยกระดับการเป็นชุมชนอุดมสุข ทั้งด้านการส่งเสริมและสนับสนุน การเรียนรู้ผ่านกิจกรรมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ สถาบันการศึกษาและเอกชน โดยมีนายณรงค์ ขันติวิริยะกุล รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะผู้บริหารและพนักงาน ให้การต้อนรับ
นายณรงค์ ขันติวิริยะกุล รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. เปิดเผยว่า ธ.ก.ส. ได้จัด “โครงการประกวดชุมชนอุดมสุข ที่ยั่งยืนยอดเยี่ยม ระดับประเทศ ปี 2566” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 โดยได้ทำการคัดเลือกชุมชนอุดมสุข ธ.ก.ส. จากทั่วประเทศ เพื่อค้นหาชุมชนอุดมสุขที่มีศักยภาพ เป็นต้นแบบด้านการพัฒนาชุมชน และเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับชุมชนอื่น ๆ ที่ ธ.ก.ส. กำลังพัฒนาทั่วประเทศ จำนวน 7927 ชุมชน ในการปรับเปลี่ยนการดำเนินงานอันนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน ก่อเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างแท้จริง โดยในปีที่ผ่านมา ธนาคารได้ทำการยกระดับชุมชนอุดมสุข จำนวน 104 ชุมชนทั่วประเทศ ที่มีการจัดทำแผนธุรกิจและขับเคลื่อนการทำเกษตรสมัยใหม่ การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนแบบองค์รวม (BCG Model) และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐาน ทำให้คนในชุมชน มีรายได้เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึงร้อยละ 29.25 คิดเป็นเงินกว่า 976.26 ล้านบาท อัตราการเติบโตผลิตภัณฑ์มวลรวมชุมชน (GCP) เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.66 และความสุขมวลรวมของชุมชนอยู่ในระดับมากที่สุด เฉลี่ยอยู่ที่ 4.57 และสำหรับปี 2566 ธนาคารตั้งเป้าหมายในการยกระดับชุมชนอุดมสุข จำนวน 181 ชุมชนทั่วประเทศ โดยมุ่งเน้นการขับเคลื่อนการดำเนินงานพัฒนาตามแนวทาง BCG Model และการมุ่งไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ซึ่งในปีนี้ได้เริ่มต้นจากการจัดประกวดชุมชนอุดมสุขที่ยั่งยืนดีเด่น ระดับภูมิภาคทั้ง 9 ฝ่ายกิจการสาขาภาค เพื่อค้นหาชุมชนอุดมสุขดีเด่นระดับภูมิภาค ภาคละ 3 ชุมชน รวม 27 แห่งทั่วประเทศ และนำชุมชนอุดมสุขที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ระดับภูมิภาค จำนวน 9 ชุมชน มาเข้าร่วมการประกวดชุมชนอุดมสุขที่ยั่งยืนยอดเยี่ยม ระดับประเทศ เพื่อเฟ้นหาชุมชนอุดมสุขยอดเยี่ยมระดับประเทศ จำนวน 3 ชุมชน
สำหรับคุณสมบัติของชุมชนที่เข้าประกวดชุมชนอุดมสุขที่ยั่งยืน ระดับประเทศ ต้องเป็นชุมชนอุดมสุขที่มีผลประเมินอยู่ในระดับ A มีแผนธุรกิจและการดำเนินกิจกรรมตามหลัก BCG Model มีการนำทรัพยากรท้องถิ่นมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิต และมีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการดำเนินกิจกรรมและประกอบอาชีพ โดยในการตัดสินระดับประเทศจะใช้เกณฑ์ในมิติด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ การบริหารช่องทางการตลาด และการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ มิติด้านสังคมวัฒนธรรมประเพณี และด้านการดำเนินงานโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
ทั้งนี้ ในปี 2566 มีชุมชนที่ผ่านการคัดเลือกเข้าแข่งขันในระดับประเทศ จำนวน 9 ชุมชนจาก 9 ฝ่ายกิจการสาขาภาค ได้แก่ ชุมชนบ้านหนองหมด จังหวัดเชียงราย ชุมชนบ้านคลองยาง จังหวัดสุโขทัย ชุมชนบ้านคำข่า จังหวัดสกลนคร ชุมชนบ้านเจริญสุข จังหวัดบุรีรัมย์ ชุมชนบ้านคลองหม่อนแช่ม จังหวัดนนทบุรี ชุมชนบ้านอ่างเตย จังหวัดฉะเชิงเทรา ชุมชนบ้านคลองขุด จังหวัดสมุทรสงคราม ชุมชนบ้านน้ำราด จังหวัดสุราษฎร์ธานี และชุมชนบ้านวังลุง จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งชุมชนอุดมสุขที่ได้รับการคัดเลือก 3 อันดับแรกจะได้รับโล่เกียรติยศและเงินรางวัล ดังนี้ 1) รางวัลชนะเลิศ จำนวน 100000 บาท 2) รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จำนวน 70000 บาท และ 3) รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 จำนวน 50000 บาท ซึ่งโครงการฯ ยังได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิในหลากหลายสาขามาร่วมเป็นกรรมการตัดสิน ได้แก่ คุณลดาวัลย์ คำภา คณะอนุกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นประธานกรรมการตัดสินรางวัล ผู้แทนสำนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ผู้แทนมูลนิธิป๋วย อึ๊งภากรณ์ และผู้แทนกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) ทั้งนี้ สามารถติดตามผลการคัดเลือกชุมชนอุดมสุขที่ยั่งยืน ระดับประเทศ ประจำปี 2566 ในวันที่ 19 ธันวาคม 2566 ผ่านการไลฟ์สดได้ที่ Facebook ฝ่ายพัฒนาลูกค้าและชุมชน (ฝลช.) ตลอดการจัดงาน