SME D Bank ผุดแคมเปญช่วย SMEs ลดภาระธุรกิจ ติดปีกด้วยเทคโนโลยี เผยผลสำรวจเชื่อมั่น Q2 กระเตื้อง ชี้แนวโน้มอนาคตกังวลรายได้หด ต้นทุนค่าแรงเพิ่ม 

   เมื่อ : 28 มิ.ย. 2566

SME D Bank จับมือ ศศินทร์ เผยผลสำรวจดัชนีเชื่อมั่น SMEs ประจำไตรมาส 2/2566 ปรับขึ้นเล็กน้อย อานิสงส์เทศกาลสงกรานต์กระตุ้นท่องเที่ยวคึกคัก ส่วนแนวโน้ม 3 เดือนข้างหน้า กลับลดลง จากความกังวลลูกค้าจับจ่ายน้อยลง และเข้าช่วง Low Season เผยการปรับค่าแรงครั้งล่าสุด ส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบระดับปานกลาง ระบุอยากให้ภาครัฐมีมาตรการช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย ด้าน SME D Bank ประกาศพร้อมช่วยเต็มที่ พาเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลยกระดับธุรกิจ  ดันแคมเปญ เติมทุน มี Cash Back ลดภาระดำเนินธุรกิจ

        

นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ  ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank เผยว่า  “ศูนย์วิจัยและข้อมูล ธพว.”  ร่วมกับ “ศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษา” สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำ “ผลสำรวจความเชื่อมั่น SMEs ต่อเศรษฐกิจและธุรกิจ ไตรมาส 2/2566 และคาดการณ์อนาคต”  จากการสำรวจผู้ประกอบการ SMEs จำนวนกว่า 500 ตัวอย่างทั่วประเทศ ครอบคลุมทุกประเภทอุตสาหกรรม พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจและธุรกิจของ SMEs ในไตรมาส 2/2566 อยู่ที่ระดับ 65.90 ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน (1/2566)  ซึ่งอยู่ในระดับ 65.09  จากปัจจัยการจับจ่ายใช้สอยคึกคักในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อีกทั้ง มีความคาดหวังต่อนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจภายหลังการเลือกตั้ง

 

ส่วนแนวโน้มความเชื่อมั่น 3 เดือนข้างหน้า SMEs  มีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจและธุรกิจ อยู่ที่ระดับ 65.61 ลดลงจากเมื่อ 3 เดือนที่แล้ว ที่อยู่ระดับ 66.76 เนื่องจากปัจจัยเข้าสู่ฤดูฝน ซึ่งเป็นช่วง Low Season ของการท่องเที่ยว มีแนวโน้มที่ลูกค้าจะจับจ่ายน้อยลง

 

นอกจากนี้ เพื่อประโยชน์ในเชิงนโยบายที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน SME D Bank ได้ศึกษาผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเมื่อตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา พบว่า  SMEs จำนวนร้อยละ 39.80 จ่ายค่าแรงสูงกว่าเกณฑ์ค่าแรงขั้นต่ำที่ประกาศใช้เมื่อตุลาคม 2565 อยู่แล้ว โดยเป็นผู้ประกอบการขนาด Medium เป็นหลัก  ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 60.20 จำเป็นต้องมีการปรับค่าแรงขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มขนาด Micro ร้อยละ 63.12 และขนาด Small ร้อยละ 72.27 ส่วนขนาด Medium มีเพียงร้อยละ 5 เท่านั้นที่ต้องปรับขึ้น  ขณะที่ SMEs ในพื้นที่ภาคอีสาน มีสัดส่วนต้องปรับค่าแรงขึ้นมากสุด คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 81.11  เมื่อถามถึงผลกระทบที่จะได้รับ จำนวนร้อยละ 85.31 ระบุว่า ได้รับผลกระทบทางลบ โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 52.98 ได้รับผลกระทบระดับปานกลาง  ส่วนร้อยละ 9.93  ได้รับผลกระทบมาก ในทางกลับกัน SMEs จำนวนหนึ่งเห็นถึงข้อดีของการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

 

ทั้งนี้ SMEs มีแนวทางในการปรับตัวเพื่อรับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ โดยร้อยละ 97.35 จะลดต้นทุนในส่วนอื่น ๆ ร้อยละ 70.86 ขึ้นราคาสินค้าและบริการ และร้อยละ 21.85 เปลี่ยนไปจ้างแรงงานต่างด้าวที่ค่าจ้างต่ำทดแทน ขณะที่ ความช่วยเหลือที่ต้องการจากภาครัฐ ได้แก่ การลดภาษีและค่าธรรมเนียมอื่นๆ ทดแทน สูงที่สุดถึงร้อยละ 93.38  ตามด้วย มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ร้อยละ 76.82 เพื่อช่วยชดเชยผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

 

ด้านผลสำรวจสิ่งที่ SMEs ต้องการได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ในปี 2566 นั้น ในส่วนการตลาด กลุ่มขนาด Micro ส่วนใหญ่ร้อยละ 74.78 ต้องการมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายในประเทศ ในขณะที่กลุ่มขนาด Small ส่วนใหญ่ร้อยละ 61.86 ต้องการผู้เชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษาแนะนำ และกลุ่ม Medium ส่วนใหญ่ร้อยละ 63.33 ต้องการสนับสนุนเข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ  ด้านเทคโนโลยี กลุ่มขนาด Micro ส่วนใหญ่ ร้อยละ 84.96 อยากได้การสนับสนุนแบบร่วมจ่าย (Co-payment) เพื่อช่วยแบ่งเบาค่าใช้จ่ายในการลงทุนเทคโนโลยี  ในขณะที่ ขนาด Small และ Medium  ส่วนใหญ่ ร้อยละ 67.44 และร้อยละ 58.33 ต้องการให้สนับสนุนการเรียนรู้และพัฒนาทักษะด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับผู้ประกอบการ และด้านบริหารจัดการต้นทุน SMEs ส่วนใหญ่ทุกกลุ่ม ร้อยละ 91.22 ต้องการให้ภาครัฐ ลด ตรึง อุดหนุนค่าพลังงาน  และร้อยละ 52.50 อยากให้สนับสนุนการติดตั้งพลังงานทางเลือกเพื่อลดต้นทุนพลังงาน     

นางสาวนารถนารี   กล่าวสรุปว่า จากผลสำรวจที่ความเชื่อมั่นปัจจุบันเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย และคาดการณ์ในอนาคต กลับลดลง สะท้อนว่า SMEs ยังมีความกังวลต่อสถานการณ์ในการดำเนินธุรกิจจากปัจจัยความไม่แน่นอนรอบตัว และปัจจัยกำหนดความเชื่อมั่นของ SMEs ล้วนเป็นปัจจัยระยะสั้น ซึ่งส่งผลให้ SMEs ยังขาดความมั่นใจที่จะลงทุนขยายธุรกิจ โดย SMEs ยังคงกังวลต่อภาระต้นทุนธุรกิจที่คาดจะเพิ่มขึ้นในอนาคต จากค่าพลังงาน และการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ดังนั้น SMEs จึงต้องการให้ภาครัฐมีมาตรการช่วยเหลือเพื่อลดต้นทุนธุรกิจ หรือสนับสนุนในการเข้าถึงหรือใช้เทคโนโลยี เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในธุรกิจ

 

ทั้งนี้ SME D Bank ได้จัดเตรียมแนวทางช่วยเหลือด้านการเงินควบคู่การพัฒนา เพื่อจะตอบความต้องการของ SMEs ได้ครบถ้วนที่สุด โดยด้านการเงิน มีผลิตภัณฑ์สินเชื่อ เช่น “BCG Loan” เพื่อนำไปยกระดับปรับเปลี่ยนเครื่องจักรหรือลงทุนเทคโนโลยีพลังงานทางเลือก ช่วยลดต้นทุน วงเงินกู้สูงสุดถึง 50 ล้านบาท ผ่อนนานสูงสุดถึง 15 ปี  อีกทั้ง สำหรับลูกค้าใหม่ จะได้สิทธิลดภาระค่าใช้จ่าย หากยื่นกู้และใช้วงเงิน 1 ล้านบาท ถึง 50 ล้านบาท ตั้งแต่วันนี้ถึงสิ้นเดือนกันยายน 2566 ได้รับ Cash Back ค่าประเมินหลักทรัพย์ค้ำประกัน มูลค่าสูงสุด 30000 บาทต่อราย   ขณะที่ด้านการพัฒนา  สนับสนุนผ่านการดำเนินโครงการ SME D Coach  โดยมีเครื่องมือดิจิทัลต่าง ๆ ช่วยเสริมศักยภาพธุรกิจ เช่น เครื่องมือ  Business Health Check ช่วยให้  SMEs เข้าใจศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจได้ดีขึ้น สามารถบริหารจัดธุรกิจ ควบคุมต้นทุนการผลิตได้เหมาะสม ช่วยให้ลดต้นทุนธุรกิจได้ อีกทั้ง บริการให้คำปรึกษาแนะนำธุรกิจโดยโค้ชมืออาชีพ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ