ศลช. จัดงาน TCELS Life Sciences Beyond Aspiration โชว์ผลงานความสำเร็จ จับมือกับ 3 หน่วยงานหลัก หนุนคนไทยเข้าถึงนวัตกรรม บริการด้านการแพทย์และสุขภาพอย่างเท่าเทียม
ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ศลช. (TCELS) เปิดเวที TCELS Life Sciences Beyond Aspiration เปิดวิสัยทัศน์สู่ภารกิจเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน โชว์ผลงานความสำเร็จ Showcase พร้อมประกาศความร่วมมือครั้งสำคัญกับ 3 หน่วยงานหลัก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ร่วมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ ขึ้นแท่น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมหลักของประเทศ
ศาสตราจารย์ ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา ประธานกรรมการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ศลช. (TCELS) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า ปี 2565 ผลิตภัณฑ์ยาและเวชภัณฑ์ของไทย มีมูลค่าตลาดประมาณ 2.4 แสนล้านบาท และมีอัตราการเติบโตร้อยละ 3-5 แบ่งเป็นการผลิตในประเทศร้อยละ 30 และนำเข้าร้อยละ 70 ซึ่งถึงแม้ว่าจะมีมูลค่าตลาดที่สูง แต่เมื่อเปรียบเทียบกับการวิจัย พัฒนา และต่อยอดสู่การใช้ประโยชน์ภายในประเทศ รวมถึงการส่งออกแล้ว พบว่ายังมีสัดส่วนที่น้อยมาก โดยเฉพาะการวิจัยและพัฒนาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้หรือสังคม ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีสนับสนุนให้เกิดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ และการเร่งรัดเข้าสู่ขั้นตอนการใช้ประโยชน์ได้จริงในระยะเวลาที่เหมาะสมและทันต่อสถานการณ์เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับประเทศไทย
“โควิด-19 เป็นตัวพลิกโฉมหน้าอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพของโลก เป็นปัจจัยเร่งให้เกิดการคิดค้นนวัตกรรม กระบวนการคิดค้นยา วัคซีน จากที่เคยใช้เวลา 10 ปี ลดเหลือเพียง 18 เดือน และยังได้สร้างบทเรียนสำคัญว่า ปัญหาเรื่องสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจ ไม่ใช่เรื่องที่แยกส่วนกันได้ โรคระบาดไม่เลือกปฏิบัติ ทุกคนมีความเสี่ยงเท่าเทียมกัน ดังนั้น ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ของไทยหลังโควิด-19 จึงต้องมุ่งเน้นการวิจัย พัฒนานวัตกรรม ที่สามารถต่อยอดไปสู่การผลิตและใช้ประโยชน์ได้จริง สร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ และประเทศไทยพึ่งพาตัวเองได้ ซึ่ง TCELS เป็นหนึ่งในกลไกที่จะผลักดันประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูงที่ต้องบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ของไทย” ศาสตราจารย์
ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว
ดร.จิตติ์พร ธรรมจินดา ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) กล่าวว่า TCELS มีวิสัยทัศน์ในการผลักดันให้อุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์เป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมหลักของประเทศ สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ และส่งเสริมการเข้าถึงนวัตกรรม บริการด้านการแพทย์และสุขภาพของคนไทยอย่างเท่าเทียม โดยตั้งแต่ปี 2566 ได้มีการปรับเปลี่ยนบทบาท มีกลไกที่หลากหลาย และบริการด้านการสนับสนุนการขับเคลื่อนนวัตกรรม เสริมสร้างระบบนิเวศของอุตสาหกรรมด้านชีววิทยาศาสตร์ และเชื่อมโยงเครือข่ายพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
สำหรับการจัดงาน TCELS Life Sciences Beyond Aspiration นอกจากจะเป็นการสร้างการรับรู้ถึงบทบาท วิสัยทัศน์ พันธกิจของ TCELS แล้ว ภายในงานยังมีการจัดแสดงผลงานความสำเร็จของ TCELS คลินิกให้คำปรึกษาสำหรับผู้ที่สนใจกลไกการสนับสนุน การเข้าถึงบริการ และการทำงานร่วมกับ TCELS รวมทั้งการเสวนาพิเศษ ในหัวข้อ “ความร่วมมือในการส่งเสริมและสนับสนุนผลิตภัณฑ์และบริการ ด้านการแพทย์และสุขภาพ” โดย วิทยากรจากภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้แทนนักลงทุน และ “กลไกการสนับสนุนทุนด้านการแพทย์และสุขภาพ” โดย ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ และผู้ประกอบการภาคธุรกิจ
นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการประกาศความความร่วมมือระหว่าง TCELS กับ 3 หน่วยงานหลักที่มีเครือข่ายภาคธุรกิจ ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ในการสนับสนุนและต่อยอดงานวิจัยการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่เกี่ยวข้องกับด้านการแพทย์ และผลิตภัณฑ์สุขภาพ โดยครอบคลุมการวินิจฉัย การรักษา และการป้องกันโรค รวมทั้งสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์และบริการสู่การถ่ายทอดเชิงพาณิชย์ เพื่อให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพในประเทศ และการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรอื่น ๆ ทั้งในและต่างประเทศ
“การปรับเปลี่ยนบทบาท และบริการด้านการสนับสนุนการขับเคลื่อนนวัตกรรม รวมทั้งการเชื่อมโยงเครือข่ายพันธมิตรของ TCELS จะมีส่วนสำคัญในการผลักดันประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง ตามยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ปี 2566-2570 โดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะเป็นพลังในการขับเคลื่อนการเข้าถึงนวัตกรรม บริการด้านการแพทย์และสุขภาพของคนไทยอย่างเท่าเทียมได้เร็วยิ่งขึ้น” ดร.จิตติ์พร กล่าวในตอนท้าย
สำหรับผู้สนใจสามารถติดตามข้อมูลข่าวสาร ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ศลช. (TCELS) ได้ที่ www.tcels.or.th หรือติดตามทุกเคลื่อนไหวได้ที่ Facebook: TCELS Thailand