ศูนย์วิจัย ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรเดือนมิถุนายน ปี 65

   เมื่อ : 02 มิ.ย. 2565

ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. เผยราคาสินค้าเกษตรในเดือนมิถุนายน 2565     มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากมาตรการเปิดประเทศ เปิดสถานบันเทิง และค่าเงินบาทอ่อนค่าลงส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ น้ำตาลทรายดิบ ปาล์มน้ำมัน สุกร โคเนื้อ และกุ้งขาวแวนนาไม ยกเว้นมันสำปะหลัง และยางพาราดิบที่มีแนวโน้มราคาปรับลดลง

 

นายสมเกียรติ  กิมาวหา รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรในเดือนมิถุนายน 2565 โดยสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ราคาอยู่ที่ 8,896 - 9,046 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 3.37 - 5.12 เนื่องจากผลผลิตข้าวนาปรังออกสู่ตลาดลดลงจากการเก็บเกี่ยวข้าวนาปรังรอบที่ 1 และแนวโน้มเงินบาทอ่อนค่าลง ทำให้ประเทศคู่ค้านำเข้าข้าวจากไทยเพิ่มขึ้น   ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาอยู่ที่ 12,604 - 12,799 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 1.72 - 3.29 เนื่องจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเพิ่มขึ้น ทำให้ประเทศคู่ค้าในตะวันออกกลางมีรายได้เพิ่มขึ้น อาทิ อิรัก อิหร่าน ซาอุดิอาระเบีย จึงต้องการนำเข้าข้าวหอมมะลิจากไทยเพิ่มขึ้น  ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ราคาอยู่ที่ 8,744 - 8,806 บาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.35 - 1.07 

 

เนื่องจากมีความต้องการใช้ในเทศกาลไหว้บ๊ะจ่าง ประกอบกับความต้องการนำเข้าข้าวเหนียวของจีนเพิ่มขึ้น เพื่อใช้ในเทศกาลแข่งขันเรือมังกร ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ความชื้นไม่เกิน 14.5% ราคาอยู่ที่ 10.17 - 10.33  บาท/ก.ก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.92 - 2.51 เนื่องจากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์อื่นยังอยู่ในระดับสูง แม้จะมีมาตรการลดภาษีนำเข้า แต่คาดว่าราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์บางประเภทยังสูงกว่าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ จึงทำให้ความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ยังคงเพิ่มขึ้น

น้ำตาลทรายดิบ ราคาอยู่ที่ 20.45 - 20.98 เซนต์/ปอนด์ (15.41 - 15.81 บาท/กก.) เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 1.35 - 7.45 เนื่องจากอินเดียจำกัดการส่งออกน้ำตาล เพื่อแก้ปัญหาราคาและปริมาณน้ำตาลให้เพียงพอบริโภคภายในประเทศ ซึ่งอินเดียเป็นประเทศที่ส่งออกน้ำตาลสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก ประกอบกับราคาน้ำมันดิบยังคงสูงขึ้นต่อเนื่อง กระตุ้นให้ผู้ประกอบการเพิ่มสัดส่วนการนำอ้อยไปผลิตเอทานอล ปาล์มน้ำมัน ราคาอยู่ที่ 10.91 - 11.15 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 3.90 - 6.19 เนื่องจากราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ความต้องการใช้พืชพลังงานทดแทนโดยเฉพาะปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้น สุกร        ราคาอยู่ที่  96.59 - 98.99  บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.67 - 3.17 เนื่องจากปริมาณผลผลิตสุกรทั้งประเทศยังไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคและปัญหาต้นทุนการผลิตสุกรสูง ส่งผลให้เกษตรกรผู้เลี้ยงชะลอการเลี้ยงสุกรเพื่อลดความเสี่ยง ทำให้ปริมาณสุกรในประเทศลดลง ขณะที่การบริโภคเนื้อสุกรเพิ่มขึ้น จากการผ่อนคลายมาตรการเข้าประเทศ ตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา ทำให้ผู้ประกอบการร้านอาหารและสถานบันเทิงเริ่มกลับมาเปิดได้ตามปกติ โคเนื้อ ราคาอยู่ที่ 100.20 - 105.85 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.10 - 5.74 เนื่องจาก การเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ ประกอบกับสถานบันเทิง ผับ บาร์ และคาราโอเกะ กลับมาเปิดดำเนินกิจการ ส่งผลให้ความต้องการบริโภคอาหารรวมถึงเนื้อโคปรับตัวเพิ่มขึ้น กุ้งขาวแวนนาไม (70 ตัว/กก.) ราคาอยู่ที่ 155.37 - 156.38  บาท/กก.  เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 1.55 - 2.21 เนื่องจากมาตรการเปิดประเทศ   อย่างเต็มรูปแบบ สนับสนุนให้การท่องเที่ยวในประเทศค่อย ๆ ฟื้นตัว ซึ่งจะส่งผลดีต่อธุรกิจร้านอาหาร ประกอบกับการส่งออกกุ้ง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากความต้องการของประเทศคู่ค้าสำคัญ อาทิ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น

 

ด้านสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลง ได้แก่ มันสำปะหลัง ราคาอยู่ที่  2.40 - 2.48 บาท/กก. ราคาลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.80 - 4.00 เนื่องจากเป็นช่วงที่โรงงานแป้งมันสำปะหลังเริ่มปิดปรับปรุงเครื่องจักรในช่วงปลายฤดูกาลเก็บเกี่ยวมันสำปะหลัง ทำให้การซื้อขายมันสำปะหลังลดลง ประกอบกับเป็นช่วงต้นฤดูฝนที่มีฝนตกชุกและตกหนักในหลายพื้นที่ ส่งผลให้ผลผลิตมันสำปะหลังมีคุณภาพเชื้อแป้งลดลง ยางพาราแผ่นดิบ ราคาอยู่ที่ 59.25 - 60.93 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.10 - 2.85 เนื่องจากปริมาณยางพาราเข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้น โดยแหล่งผลิตยางพาราที่สำคัญของประเทศในภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือเริ่มเปิดกรีดยาง  ประกอบกับราคายางพาราตลาดล่วงหน้าโตเกียว มีแนวโน้มลดลงจากความกังวลเรื่อง มาตรการคว่ำบาตรของสหภาพยุโรป ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน จึงมีการลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัยเพิ่มขึ้น อาทิ สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แทนการลงทุนในสัญญาซื้อขายยางพาราล่วงหน้า