โค้งสุดท้ายคนไทยเที่ยวในประเทศคึกคัก คาดทั้งปี 2565 คนไทยเที่ยวในประเทศ 150.8 ล้านคน-ครั้ง
ในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี 2565 การท่องเที่ยวในประเทศน่าจะคึกคักมากขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว บวกกับวันหยุดราชการกรณีพิเศษระหว่างวันที่ 16-18 พ.ย. 65 ในพื้นที่กรุงเทพฯ นนทบุรีและสมุทรปราการ เนื่องจากมีการจัดการประชุมผู้นำเอเปคนั้น น่าจะช่วยหนุนให้มีการเดินทางท่องเที่ยวต่างจังหวัดมากขึ้น และจากผลสำรวจแผนการเดินทางท่องเที่ยวของคนกรุงเทพฯ ในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี 2565 พบว่า กลุ่มตัวอย่างคนกรุงเทพฯ 3 ใน 4 วางแผนเดินทางท่องเที่ยวและเกือบทั้งหมดยังเลือกเที่ยวในประเทศ จากบรรยากาศดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี 2565 คนไทยเที่ยวในประเทศจะมีจำนวน 31.9 ล้านคน-ครั้ง เพิ่มขึ้น 6.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
โดยทั้งปี 2565 การเดินทางท่องเที่ยวในประเทศของคนไทยน่าจะมีจำนวน 150.8 ล้านคน-ครั้ง โดยจำนวนคนไทยกลับมาเดินทางท่องเที่ยวในประเทศแล้วประมาณ 87% เมื่อเทียบกับปี 2562 และเพิ่มขึ้นประมาณ 183.9% จากปี 2564 ขณะที่ค่าใช้จ่ายเพื่อการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ น่าจะมีมูลค่าประมาณ 6.3 แสนล้านบาท เติบโตประมาณ 149.1% จากปี 2564
โค้งสุดท้ายตลาดไทยเที่ยวไทยกลับมาคึกคักอีกครั้ง คาดทั้งปี 2565 คนไทยเที่ยวในประเทศน่าจะมีจำนวน 150.8 ล้านคน-ครั้ง ขณะที่รายได้ท่องเที่ยวน่าจะอยู่ที่ประมาณ 6.3 แสนล้านบาท
ตลาดไทยเที่ยวไทยปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง หลังจากที่สถานการณ์โควิดในประเทศดีขึ้นและกิจกรรมเศรษฐกิจกลับมาขับเคลื่อนได้ปกติ กอปรกับทางการได้ออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ ทำให้คนไทยกลับมาเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น จากการรวบรวมข้อมูลเบื้อต้น คาดว่า ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2565 คนไทยเดินทางท่องเที่ยวเติบโต 278.2% (YoY) หรือมีจำนวน 118.9 ล้าน-คนครั้ง และคาดว่าในช่วงที่เหลือของปี ซึ่งเป็นฤดูกาลท่องเที่ยวของคนไทย น่าจะมีความคึกคักมากขึ้น ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้สำรวจการวางแผนท่องเที่ยวของคนกรุงเทพฯ ในช่วงที่เหลือของปี 2565 และในระยะข้างหน้า โดยจากผลสำรวจระหว่างวันที่ 24 ต.ค. – 10 พ.ย. 65 พบประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
• ในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี 2565 กลุ่มตัวอย่างคนกรุงเทพฯ 3 ใน 4 วางแผนเดินทางท่องเที่ยว และเกือบทั้งหมดยังเลือกเที่ยวในประเทศคิดเป็นสัดส่วน 91.8% โดยแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติภูเขา/ยอดดอยยังครองอันดับ 1 ของแผนการท่องเที่ยวในช่วงที่เหลือของปี สำหรับจังหวัดที่กลุ่มตัวอย่างมีแผนที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ เชียงใหม่ กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ (หัวหิน) นครราชสีมา (เขาใหญ่) และเพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวหลักของคนไทย อย่างไรก็ดี ผลสำรวจในปีนี้สะท้อนภาพของการกระจายตัวไปยังจังหวัดท่องเที่ยวรองมากขึ้น อาทิ น่าน ลำพูน บึงกาฬ นครพนม อุทัยธานี จันทบุรี เป็นต้น ขณะที่กลุ่มตัวอย่างวางแผนเดินทางต่างประเทศมีสัดส่วน 8.2% โดยประเทศจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวที่คนไทยมีแผนที่จะเดินทางท่องเที่ยวอันดับสูงสุดยังคงเป็นประเทศญี่ปุ่น ขณะที่รองลงมา คือ เกาหลีใต้ สิงคโปร์ สปป.ลาว และยุโรป ซึ่งขณะนี้ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวต่างประเทศเริ่มทำการตลาดกระตุ้นการท่องเที่ยวอย่างเช้มข้น
• กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ใช้เวลาในการวางแผนเตรียมการท่องเที่ยวล่วงหน้าประมาณ 2-4 สัปดาห์ ขณะที่การรีวิวจาก Social Media เช่น Facebook YouTube (Blogger/Youtuber) และการบอกต่อของคนใกล้ชิดไปเที่ยวมาแล้วบอกต่อ เป็นปัจจัยลำดับต้นๆ ที่มีอิทธิพลในการเลือกสถานที่ท่องเที่ยว คงปฏิเสธไม่ได้ว่าสื่อสังคมออนไลน์ การรีวิวสถานที่ท่องเที่ยวมีบทบาทสำคัญต่อการเลือกสถานที่ท่องเที่ยว เนื่องจากผู้ใช้สามารถเข้าถึงข้อมูลการท่องเที่ยว และสัมผัสเรื่องราวและประสบการณ์การเดินทางท่องเที่ยวผ่านการชม Live สด แบบ Real Time และผ่านการรับชมคลิปวิดีโอ อีกทั้งแพลตฟอร์มออนไลน์ดังกล่าวมีการพัฒนาคุณสมบัติเพื่อให้ค้นหาข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวได้สะดวกขึ้น และทำให้การตัดสินใจเลือกสถานที่ท่องเที่ยวง่ายขึ้น
• ปัจจัยเรื่องโรคระบาดยังมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงแผนการท่องเที่ยว แม้การระะบาดของโควิดจะลดระดับความรุนแรงลง แต่ยังเป็นปัจจัยที่กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ยังมีความกังวล อีกทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อและการกลายพันธุ์ของไวรัสยังคงมีอยู่ ดังนั้นทุกภาคส่วนจึงยังคงต้องให้ความร่วมมือในการควบคุมและป้องกันการระบาดของโรคซึ่งไม่เพียงแต่โรคโควิด ขณะที่ปัจจัยที่กลุ่มตัวอย่างเลือกตอบรองลงมา คือ สภาพภูมิอากาศ/ปัญหาภัยธรรมชาติ ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวดังกล่าวที่สูง และปัจจัยด้านเศรษฐกิจ
• กลุ่มตัวอย่างวางแผนใช้จ่ายท่องเที่ยวพักค้างในต่างจังหวัดเฉลี่ยที่ 3001-4500 บาทต่อคนต่อทริป (สัดส่วน 27.8%) รองลงมา ใช้จ่ายที่ 1501-3500 บาทต่อคนต่อทริป (สัดส่วน 25.9%) และใช้จ่ายที่ 4501-5500 บาทต่อคนต่อทริป (สัดส่วน 22.4%) โดยค่าใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวของกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีการใช้จ่ายเท่าเดิมเมื่อเทียบกับในช่วงก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิด อย่างไรก็ดี ผู้ตอบแบบสอบถามอาจมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายระหว่างการเดินทางท่องเที่ยว ซึ่งขึ้นอยู่กับสินค้าและบริการในแหล่งท่องเที่ยวด้วย
จากผลสำรวจ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าในช่วงฤดูกาลเดินทางท่องเที่ยวของคนไทย 2 เดือนสุดท้ายของปี 2565 น่าจะคึกคักมากขึ้น บวกกับปัจจัยหนุนจากวันหยุดราชการกรณีพิเศษระหว่างวันที่ 16-18 พ.ย. 65 ในพื้นที่กรุงเทพฯ นนทบุรีและสมุทรปราการ เนื่องจากมีการจัดการประชุมผู้นำเอเปค ซึ่งน่าจะทำให้มีการเดินทางท่องเที่ยวต่างจังหวัดมากขึ้น จึงคาดว่าการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศของคนไทยน่าจะมีจำนวน 31.9 ล้านคน-ครั้ง เพิ่มขึ้น 6.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
อย่างไรก็ดี เนื่อจากความกังวลการระบาดของโควิดในช่วงต้นปี กำลังซื้อที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่และในช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค. 65 หลายพื้นที่เผชิญกับภัยธรรมชาติน้ำท่วมส่งผลกระทบต่อแผนการเดินทางท่องเที่ยว ทำให้ทั้งปี 2565 การเดินทางท่องเที่ยวในประเทศของคนไทยน่าจะมีจำนวน 150.8 ล้านคน-ครั้ง เพิ่มขึ้นประมาณ 183.9% จากปี 2564 โดยจำนวนคนไทยกลับมาเดินทางท่องเที่ยวในประเทศแล้วประมาณ 87% เมื่อเทียบกับปี 2562 (ก่อนเกิดการระบาดของโควิด) ขณะที่ค่าใช้จ่ายเพื่อการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศของคนไทยทั้งปี 2565 นี้ น่าจะมีมูลค่าประมาณ 6.3 แสนล้านบาท เติบโตประมาณ 149.1% จากปี 2564
สำหรับทิศทางตลาดท่องเที่ยวในประเทศในระยะข้างหน้า จากผลสำรวจสะท้อนว่ากลุ่มตัวอย่างมีแผนที่จะเดินทางท่องเที่ยวในปีหน้ามากขึ้น อย่างไรก็ดี แนวโน้มการฟื้นตัวของตลาดไทยเที่ยวในประเทศยังขึ้นอยู่กับหลายเงื่อนไข ซึ่งตลาดยังมีประเด็นที่ต้องติดตามเพราะจะมีผลต่อการวางแผนเดินทางท่องเที่ยวและพฤติกรรมการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงของโรคโควิดที่ยังอยู่ โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวนี้ ปัญหาการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยแม้กำลังซื้อของผู้บริโภคส่วนใหญ่จะเริ่มฟื้นตัวแต่ก็ยังเปราะบาง นอกจากนี้ การแข่งขันในภาคธุรกิจท่องเที่ยวมีความรุนแรงทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะเมื่อหลายประเทศกลับมาเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เดินทางเข้าไปท่องเที่ยวได้ และหากสถานการณ์ต่างๆ มีพัฒนาการที่ดีขึ้น ทำให้คนไทยที่มีความพร้อมมีแผนเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศมากขึ้นในระยะข้างหน้า ทั้งนี้ ด้วยสถานการณ์ด้านรายได้ยังมีความไม่แน่นอนสูงท่ามกลางภาระค่าครองชีพและหนี้ที่สูง ทำให้ผู้บริโภคบางกลุ่มที่ไปท่องเที่ยวกลับมาอาจยังจำเป็นต้องใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง ซึ่งอาจส่งผลต่อการบริโภครายการอื่นๆ ตามมาได้