ธ.ก.ส. เปิดตัวแอปฯ Tree Bank สร้างฐานข้อมูลต้นไม้ พร้อมเพิ่มมูลค่าสู่หลักทรัพย์ค้ำประกันและรายได้จากคาร์บอนเครดิต

   เมื่อ : 28 ส.ค. 2565

ธ.ก.ส. เปิดตัวแอปพลิเคชัน Tree Bank  หนุนการเพิ่มศักยภาพสมาชิกชุมชนในโครงการธนาคารต้นไม้ กว่า 6,800 ชุมชนทั่วประเทศ ให้สามารถบันทึกชนิดของต้นไม้ พิกัดต้นไม้ที่ปลูก วันที่ปลูก ความโต ความสูง การนำข้อมูลมาประมวลผลจำนวนต้นไม้ที่ปลูกในประเทศไทย การคำนวณมูลค่าและปริมาณกักเก็บคาร์บอนเครดิตผ่านโทรศัพท์มือถือทดแทนการใช้กระดาษ สร้างการเข้าถึงข้อมูลได้สะดวก รวดเร็ว แม่นยำ ตอบโจทย์วิถีชีวิตยุคดิจิทัลและยุทธศาสตร์ชาติในการสร้างประโยชน์เพิ่มจากการใช้ต้นไม้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน การสร้างรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิต พร้อมตั้งเป้าเพิ่มพื้นที่ป่าในประเทศ 26 ล้านไร่ใน 10 ปี

 

นายธนารัตน์  งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า  ธ.ก.ส. ได้น้อมนำแนวพระราชดำริ ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระราชดำริในการสานต่อพระราชปณิธานดังกล่าวของพระบาทสมเด็จพระ   วชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มาเป็นหลักในการดำเนินงานผ่านโครงการธนาคารต้นไม้ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนอย่างยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2553 

 

โดยมีชุมชนทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการธนาคารต้นไม้กับ ธ.ก.ส. แล้ว 6,838 ชุมชน มีสมาชิก 123,424 คน และสามารถปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้นกว่า 12.3 ล้านต้น และในปี 2561 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ ธ.ก.ส. เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนโครงการยกระดับธนาคารต้นไม้สู่ชุมชนไม้มีค่า ซึ่งเป็นการต่อยอดการนำผลิตผลจากต้นไม้มาสร้างมูลค่าเพิ่มและรายได้ให้กับชุมชน อาทิ การเพาะกล้าไม้ การนำวัตถุดิบจากไม้มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น น้ำส้มควันไม้ สมุนไพร และเฟอร์นิเจอร์ การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การนำร่องสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก (LESS) และกิจกรรมชดเชยคาร์บอน (Carbon Offset) การใช้ไม้ยืนต้นเป็นหลักประกันหนี้เงินกู้ เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันมีชุมชนที่ยกระดับไปสู่ชุมชนไม้มีค่าแล้ว 381 ชุมชน และสามารถสร้างรายได้จากกิจกรรมดังกล่าวข้างต้นแล้วกว่า 38 ล้านบาทต่อปีและเพื่อตอบโจทย์วิถีชีวิตในยุคดิจิทัล 

 

ธ.ก.ส. ได้พัฒนาแอปพลิเคชันธนาคารต้นไม้ (Tree Bank) ซึ่งถือเป็นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล และอำนวยความสะดวกให้กับสมาชิกธนาคารต้นไม้ ธ.ก.ส. ในการเก็บข้อมูลต้นไม้บนโทรศัพท์มือถือแทนการจดบันทึกลงในกระดาษ ไม่ว่าจะเป็นบันทึกพิกัดต้นไม้ที่ปลูก วันที่ปลูก ชนิดของต้นไม้ ความโต ความสูง ทั้งยังสามารถคำนวณมูลค่าต้นไม้ และปริมาณกักเก็บคาร์บอนต้นไม้ได้อีกด้วย ซึ่งแอปพลิเคชัน Tree Bank จะทำให้ทราบว่า ต้นไม้ในโครงการธนาคารต้นไม้ มีพิกัดตั้งอยู่ที่ไหน มีต้นไม้ประเภทใดบ้าง แต่ละต้นมีมูลค่าเท่าไร ซึ่งข้อมูลดังกล่าว สามารถตรวจสอบและการันตีความถูกต้องของจำนวนต้นไม้ที่ชุมชนได้ร่วมกันปลูกและดูแลรักษาและยังสามารถนำข้อมูลมาต่อยอดให้เกิดประโยชน์ เช่น การนำต้นไม้มาใช้เป็นหลักประกันสินเชื่อ การสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก (LESS) การรายงานปริมาณการกักเก็บคาร์บอนของต้นไม้ กิจกรรมชดเชยคาร์บอน (Carbon Offset) รวมถึงบันทึกการขอสินเชื่อในโครงการรักษ์ป่าไม้ ไทยยั่งยืนและโครงการสินเชื่อสีเขียว (Green Credit) ทั้งนี้สมาชิกและชุมชนธนาคารต้นไม้ สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “ธนาคารต้นไม้ (Tree Bank)” ได้ที่ Appstore และ PlayStore พร้อมติดต่อลงทะเบียนใช้งานที่ ธ.ก.ส. สาขาเท่านั้น โดยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ

 

สำหรับวิสาหกิจชุมชนบ้านเขานาในสำหรับวิสาหกิจชุมชนบ้านเขานาใน ตำบลต้นยวน อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี นำโดยนายธนกฤต  ขุนนำ ผู้ใหญ่บ้าน นำสมาชิก 114 ราย เข้าร่วมโครงการธนาคารต้นไม้กับ ธ.ก.ส. ตั้งแต่ปี 2553 มีการปลูกต้นไม้ในชุมชนเพิ่มจำนวน 13,000 ต้น และมีการยกระดับชุมชนสู่ชุมชนไม้มีค่า โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนชุมชนในการเติมองค์ความรู้จากการศึกษาดูงานในสถานที่ต่าง ๆ เพื่อนำมาเป็นกรณีศึกษาและนำไปต่อยอดในพื้นที่ของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการนำจุดแข็งของชุมชน  ทั้งความงดงามของธรรมชาติและศิลปวัฒนธรรม มาสร้างอาชีพและรายได้ เช่น การพัฒนาไปสู่ชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตร การเยี่ยมชมอุทยานธรรมเจดีย์ลอยฟ้า กิจกรรมเดินป่าชมไพรแลไข่พ่อตา การทำโฮมสเตย์รองรับนักท่องเที่ยว การแปรรูปสมุนไพรอบแห้ง และการเลี้ยงและแปรรูปจิ้งหรีด การปลูกผักอินทรีย์และปลูกป่า ซึ่งการเปิดตัวแอปพลิเคชัน Tree Bank ในครั้งนี้ สร้างประโยชน์และช่วยอำนวยความสะดวกในการคำนวณข้อมูลต้นไม้ได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ ซึ่งสามารถต่อยอดไปสู่การคำนวณมูลค่าคาร์บอนเครดิต เพื่อเป็นรายได้ในอนาคต พร้อมวางเป้าหมายเสริมความรู้ให้กับคนรุ่นใหม่ เพื่อสืบสานการอนุรักษ์ทรัพยากรในชุมชนต่อไป

 

นายธนารัตน์ กล่าวต่อไปว่า โครงการธนาคารต้นไม้และชุมชนไม้มีค่า เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนงาน ธ.ก.ส. ภายใต้หลักการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม (BCG Model) ซึ่งประกอบไปด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio economy) เป็นการมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม การพัฒนาผลผลิตทางการเกษตรให้เป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง มีการเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่คำนึงถึงการนำวัสดุทางการเกษตรต่าง ๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ที่เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล โดยวางเป้าหมายเพิ่มชุมชนไม้มีค่า 20,000 ชุมชน เพิ่มพื้นที่ป่า 26 ล้านไร่และมีประชาชนเข้าร่วมโครงการ 2.6 ล้านครัวเรือน พร้อมมุ่งหวังให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 1,040 ล้านบาท ภายใน 10 ปี

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ