SCB FM มองเงินบาทยังเคลื่อนไหวในกรอบแม้ปัจจัยเสี่ยงมากขึ้น แต่มาตรการภาษีตอบโต้ที่สหรัฐฯ จะประกาศอาจทำให้บาทอ่อนอีกเล็กน้อย

กลุ่มงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB Financial Markets: SCB FM) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาเงินบาทยังเคลื่อนไหวในกรอบ แม้มีเหตุแผ่นดินไหว และการประกาศมาตรการ Tariffs ของสหรัฐฯ โดย Implied volatility ลดลง สอดคล้องสกุลต่างประเทศ ในระยะสั้นนี้ มาตรการ Tariffs จะยังเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักที่อาจทำให้เงินบาทอ่อนค่าได้ โดยต้องจับตาการประกาศภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ ซึ่งหากออกมาตามคาดก็จะเป็นจังหวะดีที่ผู้ส่งออกอาจพิจารณาขาย USDTHB ที่ราว 34.20-34.50 บาทต่อดอลลาร์ เพราะในระยะยาวมองว่าเงินบาทมีโอกาสจำกัดที่จะอ่อนค่าแรงอีกได้ สำหรับผู้นำเข้า อาจพิจารณาซื้อ USDTHB บางส่วนก่อนที่จะมีประกาศมาตรการภาษี และอาจลุ้นว่า หากสหรัฐฯ ขึ้น Tariffs ในอัตราที่ต่ำ อาจทำให้ตลาดคลายกังวล ดัชนีเงินดอลลาร์อาจลดลง ทำให้เงินบาทอาจกลับมาแข็งค่าได้บ้าง สำหรับในระยะกลาง-ยาว มองว่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าได้ ตามแนวโน้มเงินทุนเคลื่อนย้ายที่ไหลออกจากสหรัฐฯ ทำให้ดัชนีเงินดอลลาร์อ่อนค่า โดยมองกรอบเงินบาทปลายปีที่ราว 32.50-33.50


นายวชิรวัฒน์ บานชื่น นักกลยุทธ์ตลาดการเงินอาวุโส ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในระยะกลาง-ยาว SCB FM มองว่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าได้ ตามแนวโน้มเงินทุนเคลื่อนย้ายที่ไหลออกจากสหรัฐฯ ทำให้ดัชนีเงินดอลลาร์อ่อนค่า โดยนับตั้งแต่ต้นปีนี้ Dollar position ปรับลดลงต่อเนื่อง จนล่าสุดเป็น Net short position ขณะที่เงินยูโรกลับมาแข็งค่าเร็ว โดยประเด็นที่ทำให้มุมมองตลาดเปลี่ยนไป คือ 1) มุมมองเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่แย่ลง ส่งผลให้ตลาดประเมิน Recession risk สูงขึ้น ทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ค่าเงินดอลลาร์ และ US Treasury yields ปรับลดลงในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา 2) การออกมาตรการภาครัฐขนาดใหญ่ในยุโรป โดยเฉพาะในเยอรมนี ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Government bond yields) ของยุโรปปรับสูงขึ้น และเงินยูโรแข็งค่าเร็ว พัฒนาการดังกล่าวส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ เข้าตลาดยุโรปมากขึ้น และตลาด EM บางส่วน (เช่น จีน) และพบว่า เงินทุนที่ไหลออกไปบางส่วนเป็น ETFs ซึ่งมักจะไม่มีไม่ hedge ค่าเงิน จึงส่งผลให้เงินยูโรแข็งค่าขึ้นเร็ว
คาดว่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐที่ราว 32.50-33.50 ณ ปลายปีนี้ ตามการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยมองว่ามาตรการ Tariffs ของสหรัฐฯ อาจยังไม่ทำให้เงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าได้อย่างยั่งยืน เนื่องจาก โอกาสเกิด Supply-chain reallocation ในระยะสั้นยังมีน้อย เพราะ Effective tariffs ที่สูงขึ้นราว 10-15% อาจยังไม่สูงพอที่จะทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิตกลับเข้าสหรัฐฯ ได้ สำหรับทิศทางเงินทุนเคลื่อนย้าย เริ่มเห็นกลับมาไหลเข้าตลาดบอนด์ไทยในเดือน มี.ค. สอดคล้องกับทิศทางเงินทุนเคลื่อนย้ายโลก ที่มีการ Rebalance ออกจากตลาดสหรัฐฯ เข้าสู่ยุโรปและจีน ซึ่ง Trend นี้จะเป็นอีกปัจจัยที่ support เงินบาทได้ในระยะกลาง-ยาว
ด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล มองว่าอาจลดลงต่อได้เล็กน้อยตามการลดดอกเบี้ยของ กนง. โดยมองว่าจะลดอีก 2 ครั้งในปีนี้ (การประชุมเดือนมิถุนายน และตุลาคม) ส่วนแนวโน้มอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ คาดว่าจะปรับลดลงต่อได้ จาก 1) การลดดอกเบี้ยของ Fed จากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มชะลอลง โดยคาดว่าจะลด 2 ครั้งในปีนี้ 2) กระทรวงการคลังสหรัฐฯ จำกัดปริมาณการออกบอนด์ ทำให้ Supply จะไม่สูงขึ้น 3) กระทรวงการคลังสหรัฐฯ มีการปรับเกณฑ์ธนาคารพาณิชย์ (เช่น supplementary leverage ratio) ทำให้ความต้องการพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ มีสูงขึ้น และ 4) การขาดดุลการคลังอาจไม่สูงเท่าที่เคยประเมิน จากการดำเนินการของหน่วยงาน DOGE ของอีลอน มัสก์