วช. หนุนงานวิจัยพัฒนาการเพาะเลี้ยงผึ้งชันโรงยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์วิสาหกิจชุมชน พร้อมให้เยี่ยมชมในมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565

   เมื่อ : 30 ก.ค. 2565

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ( วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  ร่วมกับทีมงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตระยอง และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พัฒนาอาหารเสริมสำหรับการเลี้ยงผึ้งชันโรงโดยใช้จุลินทรีย์ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตน้ำผึ้งชันโรง หวังยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์จากชาวชุมชน ให้เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคและเพียงพอต่อความต้องการของตลาด เนื่องจากน้ำผึ้งชันโรงสรรพคุณมีประโยชน์ต่อร่ายกาย มีการนำไปพัฒนาเป็นอาหารเสริม ซึ่งเป็นหนึ่งในนวัตกรรมงานวิจัยที่นำไปโชว์ในมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565
     
ดร.วิภารัตน์   ดีอ่อง  ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่าเพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพของผลิตภัณฑ์ชุมชนอย่างน้ำผึ้งชันโรง ส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนอย่างยั่งยืน เพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจของชาวบ้านในท้องถิ่น ทาง วช. จึงได้ให้การสนับสนุนทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตระยอง ในการวิจัยคิดค้นพัฒนาสูตรอาหารเสริมตามความจำเพาะของผึ้งชันโรงในแต่ละสายพันธุ์เพื่อยกระดับคุณภาพของน้ำผึ้งให้ได้มาตรฐาน อัตราการรอดชีวิตสูง เพิ่มการสร้างตัวอ่อนและให้ปริมาณน้ำผึ้งชันโรงมากขึ้น
   
 

ดร.จักราวุธ  ไม้ทิพย์ ทีมงานผู้วิจัยเปิดเผยว่ากระบวนการกรรมวิธีพัฒนาการเพาะเลี้ยงผึ้งชันโรง ได้ทำการคัดแยกและจำแนกยีสต์จากถ้วยเกสรของผึ้งชันโรง Tetragonula laeviceps พบยีสต์สกุล Starmerella sp.CMU-Y15 ที่ผลิตสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของผึ้งชันโรง จึงผสมยีสต์นี้ร่วมกับอาหารเสริมผึ้งชันโรง เมื่อนำไปทดสอบในพื้นที่แปลงเกษตร พบว่าการเพาะเลี้ยงชันโรงด้วยอาหารเสริมจะช่วยให้ชันโรงมีการสร้างถ้วยน้ำหวานรวมถึงตัวอ่อนภายในรังมีปริมาณเพิ่มขึ้น และให้น้ำผึ้งเพิ่มขึ้นมากที่สุด 18.50 กรัม / รัง ( 2 เท่า ) เมื่อเปรียบเทียบกับการเลี้ยงแบบปกติ เมื่อวิเคราะห์หาองค์ประกอบทางเคมีของสารระเหยในน้ำผึ้ง พบสาร Shuanghuaol และ Hotrienol ซึ่งออกฤทธิ์ทางชีวภาพสามารถต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดความเครียดได้ สำหรับอาหารเสริมชันโรงเป็นการพัฒนาอาหารเสริมที่มีจุลินทรีย์โพรไบโอติก ที่อยู่ในรูปแบบกึ่งสำเร็จรูป เกษตรกรสามารถนำไปใช้ได้ง่าย ราคาถูก  ชันโรงมีน้ำหนักตัว อัตราการรอดชีวิต อัตราการกินอาหารเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ปริมาณน้ำผึ้งชันโรงที่ผลิตได้เพิ่มขึ้น นับเป็นการเลี้ยงชันโรงแนวใหม่ ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้น ตอบสนองความต้องการของตลาดและผู้บริโภค
       
จากองค์ความรู้และความสำเร็จนี้ได้นำไปสู่การผนึกกำลังของพี่เลี้ยง ( Big Brothers ) ในการสนับสนุนการเพาะเลี้ยงชันโรงให้ขยายตัวมากขึ้นในหลายวิสาหกิจโดยเริ่มที่จังหวัดระยอง สมุทรปราการ และลำปาง มีการจัดงานประกาศเจตนารมณ์ “ Big Brothers…. นำชุมชนสู่วิสาหกิจเพื่อสังคม…น้ำผึ้งชันโรง “ ซึ่งเป็นการผนึกกำลังของภาคเอกชนเพื่อช่วยเหลือวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ในการพัฒนาการเพาะลี้ยงชันโรงและผลิตภัณฑ์น้ำผึ้งชันโรงอย่างครบห่วงโซ่คุณค่าผลิตภัณฑ์ โดยมีวิสาหกิจชุมชนกลุ่มส่งเสริมอาชีพผู้เลี้ยงชันโรงบ้านทับมาเป็นต้นแบบแหล่งเรียนรู้ และจะพัฒนาต่อยอดการเพาะเลี้ยงและสูตรอาหารเพื่อให้ชันโรงในภาคตะวันออก โดยเฉพาะจังหวัดระยองและภาคกลางจังหวัดสมุทรปราการ ให้มีผลผลิตต่อเนื่องทั้งปี พร้อมเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับวิสาหกิจชุมชนอื่น ๆ  ด้วย สำหรับใครที่ 

 

สนใจสามารถเข้าร่วมชมได้ที่   มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 ( Thailand Research Expo 2022 ) ระหว่างวันที่ 1-5 สิงหาคม 2565 ณ ชั้น 22 และ 23 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ 

 


 

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ