กพร. การันตี 255 สถานประกอบการเหมืองแร่สีเขียว  ยกระดับเหมืองแร่ไทยสู่มาตรฐานสากล

   เมื่อ : 23 ก.ย. 2567

กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม จัดพิธีมอบรางวัลเหมืองแร่สีเขียว ประจำปี 2567 (Green Mining Award 2024) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 15  เพื่อเดินหน้าผลักดันถานประกอบการให้ดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม มุ่งขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเหมืองแร่ไทยสู่ความยั่งยืน
 

(23 กันยายน 2567) นายอดิทัต วะสีนนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กล่าวว่า กพร. ในฐานะเป็นหน่วยงานหลักในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านวัตถุดิบแร่ ให้สามารถรองรับความต้องการใช้ของภาคอุตสาหกรรมในประเทศได้อย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึง การกำกับดูแลการประกอบการเหมืองแร่และอุตสาหกรรมพื้นฐาน โดยมุ่งมั่นผลักดันและส่งเสริมให้ สถานประกอบการดำเนินธุรกิจอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รับผิดชอบต่อสังคม เพื่ออยู่ร่วมกับชุมชนอย่างยั่งยืน โดย กพร. จัดพิธีมอบรางวัลเหมืองแร่สีเขียว ประจำปี 2567 (Green Mining Award 2024) เพื่อประกาศเกียรติคุณ และเชิดชูเกียรติสถานประกอบการที่ผ่านเกณฑ์การประเมินตามมาตรฐานเหมืองแร่สีเขียว ณ โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ

นายยุทธศิลป์ รักญาติ ผู้อำนวยการกองบริหารสิ่งแวดล้อม รักษาราชการแทนรองอธิบดี กรมอุตสหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กล่าวเพิ่มเติมว่า กพร. ดำเนินโครงการส่งเสริมผู้ประกอบการเหมืองแร่และอุตสาหกรรมพื้นฐานให้เข้าสู่มาตรฐานเหมืองแร่สีเขียวตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 ปัจจุบันมีสถานประกอบการ ที่ได้รับรางวัลเหมืองแร่สีเขียว จำนวน 413 ราย โดยในปี พ.ศ. 2567 มีสถานประกอบการที่ได้รับรางวัลผ่านเกณฑ์ การประเมินตามมาตรฐานเหมืองแร่สีเขียว จำนวน 255 ราย ประกอบด้วยรางวัลเหมืองแร่สีเขียว (รายใหม่) จำนวน 36 ราย รางวัลรักษามาตรฐานเหมืองแร่สีเขียวต่อเนื่องดีเด่น ซึ่งเป็นสถานประกอบการที่มีการรักษา มาตรฐานดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 7 ปี และมีคะแนนเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด จำนวน 7 ราย และรางวัลรักษามาตรฐานเหมืองแร่สีเขียว จำนวน 212 ราย ซึ่งถือเป็นสถานประกอบการต้นแบบที่ดี ในการสร้างภาพลักษณ์และยกระดับมาตรฐานการประกอบการเหมืองแร่และอุตสาหกรรมพื้นฐานของประเทศ

“กพร. ยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมผู้ประกอบการเข้าสู่มาตรฐานเหมืองแร่สีเขียวอย่างต่อเนื่อง พร้อมผลักดันให้อุตสาหกรรมเหมืองแร่และอุตสาหกรรมพื้นฐานดำเนินธุรกิจอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และรับผิดชอบต่อสังคม รวมถึงสนับสนุนให้ดำเนินธุรกิจอย่างถูกต้องตามกฎหมาย มีมาตรฐานความปลอดภัยที่ดี เพื่อให้ประชาชนในทุกพื้นที่ที่มีเหมืองแร่ได้รับการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” นายอติทัต กล่าวทิ้งท้าย