วช.จับมือหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศ จัดงาน“มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565” โชว์ผลงานฝืมือนักวิจัยไทยกว่า 700 ผลงาน
พร้อมเปิดภาคการประชุม-ระดมสมองแก้โจทย์ปัญหาสำคัญของประเทศ 1-5 สิงหาคมนี้ ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดแถลงข่าวการจัดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 ( Thailand Research Expo 2022 )” ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-5 สิงหาคม 2565 ภายใต้แนวคิด“วิจัยเพื่อพัฒนาประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” โดยการจัดงานในปีนี้ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเปิดงาน ฯ ในวันจันทร์ที่ 1 สิงหาคม 2565 เวลา14.30 น.
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ร่วมมือกับหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จัดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 (Thailand Research Expo 2022)” ขึ้นเป็นปีที่ 17 เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ผู้ทรงเป็น “พระบิดาแห่งการวิจัยไทย” และเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 และพระบรมวงศานุวงศ์ ที่ทรงพระมหากรุณาธิคุณต่องานวิจัยไทย งานดังกล่าวถือเป็นเวทีระดับชาติในการนำเสนอความก้าวหน้าของผลงานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีศักยภาพพร้อมใช้ประโยชน์ และเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมให้เกิดการเผยแพร่และถ่ายทอดองค์ความรู้ รวมถึงเชื่อมโยงการบูรณาการความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการนำงานวิจัยไปใช้พัฒนาประเทศในมิติต่างๆ ทั้งเชิงวิชาการ นโยบาย สังคม ชุมชน พาณิชย์และอุตสาหกรรม
“งานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ จัดขึ้นเป็นปีที่17 โดยความมุ่งมั่นตั้งใจของเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศ ทางวช.ภายใต้กระทรวงอว.มีความตั้งใจในการทำให้เวทีนี้เป็นเวทีที่ทำให้เกิดการนำผลสำเร็จจากงานวิจัยมาทำให้เห็นภาพว่าทุกเม็ดเงินการลงทุนจากการวิจัยและนวัตกรรมที่ได้ใช้จ่ายหรือลงทุนในแต่ละปี สามารถเกิดผลงานที่ตอบโจทย์ในเรื่องของการพัฒนาประเทศในหลากหลายรูปแบบ สามารถแก้ไขปัญหาและสามารถช่วยให้คุณภาพชีวิต สภาพเศรษฐกิจและสังคมดีขึ้น อยากให้ทุกคนให้กำลังใจนักวิจัยและมาชอปผลงานวิจัยที่เกิดขึ้นรวมถึงการประชุมในประเด็นท้าทายใหม่ๆที่อยากให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม "
สำหรับการจัดงานในปีนี้ จะมีการนำเสนอผลงานวิจัยจากเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศกว่า 700 ผลงาน ใน 5 ประเด็นหลักคือ 1.งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจสร้างคุณค่าและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เช่น การพัฒนาระบบเศรษฐกิจบีซีจี (BCG) การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เอไอ หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ ระบบราง ยานยนต์ไฟฟ้า และธุรกิจฐานนวัตกรรมขนาดใหญ่ 2.งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เช่น การพัฒนาสังคมสูงวัย การพัฒนาเมืองน่าอยู่ สังคมไทยไร้ความรุนแรง และการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ 3.งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เช่น นวัตกรรมการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด-19 ทั้งการควบคุม ป้องกัน และรักษาโรค การสร้างความมั่นคงทางด้านสุขภาพและสาธารณสุข และการเตรียมการเพื่อรองรับสถานการณ์วิกฤตด้านสาธารณสุขในอนาคต 4. งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต ครอบคลุมงานวิจัยและนวัตกรรมเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเป้าหมาย (First S-curve) และอุตสาหกรรมใหม่ (New S-curve) และ 5.งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อใช้ประโยชน์เชิงการพัฒนาพื้นที่ ครอบคลุมงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีการนำไปใช้ประโยชน์เชิงนโยบาย เชิงพาณิชย์ เชิงชุมชนสังคม ผ่านกลไกการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์
ทั้งนี้ ภายในงานแถลงข่าว ฯ ยังเปิดเวที “Thailand Research Expo Talk : เวทีรวมพลังวิจัย ขับเคลื่อนประเทศไทย” โดย ศ.กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ศ.นพ.วชิร คชการ ประธานเครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย (RUN) รศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด ประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ผศ.ดร.ลินดา เกณฑ์มา ประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ และนพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข(สวรส.) และช่วง “Platinum Award Talk : เสริมพลังประชาคมวิจัย ด้วยรางวัลแห่งเกียรติยศ” โดย ผศ.ดร.วันชัย สุทธะนันท์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร และ รศ.ชยาพร วัฒนศิริ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ในฐานะได้รับรางวัล Platinum Award ในงาน มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2564
นอกจากนี้ยังได้มีการเปิดตัว “ เดี่ยว” สุริยนต์ อรุณวัฒนกูล เป็นทูตวิจัยมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 พร้อมนำเสนอตัวอย่างผลงานวิจัยที่น่าสนใจ เช่น การสร้างมูลค่าเพิ่มบัวฉลองขวัญด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจไทยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีที่ร่วมกับภาคเอกชนพัฒนาการเพาะเลี้ยง สกัดสเต็มเชลล์จากบัวฉลองขวัญ และใช้เทคโนโลยีในการกักเก็บสารสำคัญ เพื่อพัฒนาเป็นนวัตกรรมเครื่องสำอางสเต็มเซลล์จากบัวฉลองขวัญที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับพืชสมุนไพรไทย การพัฒนาฐานข้อมูลอัจฉริยะแหล่งอัญมณีโลก (AI) จากสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ที่นำเทคโนโลยีเอไอหรือปัญญาประดิษฐ์มาประยุกต์ใช้ในการบ่งชี้แหล่งที่มาของอัญมณีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการตรวจวิเคราะห์ และยกระดับความเชื่อมั่นให้กับอุตสาหกรรมอัญมณีของประเทศไทย
โครงการศึกษาพัฒนารูปแบบยาเตรียมตำรับยาแผนไทย จำนวน 16 ตำรับที่มีกัญชาเป็นส่วนผสม จากกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกที่ต่อยอดภูมิปัญญาทางการแพทย์แผนไทยโดยใช้องค์ความรู้ทางเทคโนโลยีเภสัชกรรม นอกจากนี้ยังมีระบบการดูแลผู้ป่วย Home Isolation และ Community Isolation ด้วย Platform “ WeSAFE@Home by BUU” จากมหาวิทยาลัยบูรพา ระบบพยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน จากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำในจังหวัดพัทลุง จากมหาวิทยาลัยทักษิณ
อย่างไรก็ดี ภายในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 นอกจากจะมีการนำเสนอผลงานวิจัยในภาคนิทรรศการแล้ว ยังมีภาคการประชุม-สัมมนามากกว่า 150 กว่า หัวข้อ ทั้งหัวข้อสำคัญสำหรับการบริหารจัดการงานวิจัยและปัญหาสำคัญของประเทศ หัวข้อที่อยู่ในความสนใจของสังคม การประชุมกลุ่มนำเสนอบทความผลงานวิจัย และการประชุมถ่ายทอดความรู้ การให้คำปรึกษาด้านการทำวิจัย นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมการประกวดนวัตกรรมสายอุดมศึกษากว่า 100 ผลงาน และการมอบรางวัลมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565
สำหรับงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1- 5 สิงหาคม 2565 ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ ผู้สนใจลงทะเบียนเข้าร่วมงานภาคการประชุมและภาคนิทรรศการได้ที่ https://researchexporegis.com โดยลงทะเบียนเข้าชมแบบ Onsite ภายในวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 และแบบ Online ภายในวันที่ 5 สิงหาคม 2565