บทเรียนความสำเร็จการดำเนินโครงการ TO BE NUMBER ONE ระดับจังหวัด ปี 2567
ตลอดระยะเวลา 22 ปีที่ผ่านมา ความสำเร็จของโครงการ TO BE NUMBER ONE ได้แสดงให้เห็นในเชิงประจักษ์ถึงการมียุทธศาสตร์ที่เข้มแข็งในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด มุ่งเน้นในกลุ่มเยาวชนซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยง พัฒนาไปสู่ระดับครอบครัว ชุมชน สังคม และระดับประเทศ โดยอาศัยการทำงานแบบบูรณาการในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงยุติธรรม กรุงเทพมหานคร สำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
ทั้งนี้เห็นได้จากผลสำเร็จของโครงการในเชิงปริมาณ คือการมีเครือข่าย TO BE NUMBER ONE ครอบคลุม 76 จังหวัด และ 50 เขตกรุงเทพมหานคร มีการจัดตั้งชมรมและศูนย์เพื่อนใจ TO BE NUMBER เพื่อเปิดเวทีสร้างสรรค์ให้กับสมาชิก ในเชิงคุณภาพมีสมาชิกที่ได้รับการพัฒนาให้มีคุณลักษณะตามเป้าหมาย ประสบความสำเร็จด้านการเรียน การประกอบอาชีพ การดำเนินชีวิต และมีการถ่ายทอดคุณลักษณะจากรุ่นสู่รุ่นกระจายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งเครือข่ายชมรม TO BE NUMBER ONE ระดับจังหวัด ถือเป็นแกนหลักสำคัญอีกหนึ่งภาคส่วน ที่ร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการ TO BE NUMBER ONE ให้เกิดความเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ
นายชาธิป รุจนเสรี ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร กล่าวว่าการขับเคลื่อนดำเนินงานโครงการ TO BE NUMBER ONE จังหวัดกำแพงเพชรได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานทุกระดับ มีแผนปฏิบัติการที่ชัดเจน และให้ความสำคัญในการจัดกิจกรรม เช่น การสนับสนุนให้มีการประกวดคัดเลือกชมรม TO BE NUMBER ONE ตั้งแต่ระดับอำเภอสู่ระดับจังหวัด ให้ทุกอำเภอมีการขับเคลื่อนการดำเนินงานอำเภอ TO BE NUMBER ONE อย่างเป็นรูปธรรม ให้มีการจัดกิจกรรมตามประเพณีโดยสอดแทรกกิจกรรมโครงการ TO BE NUMBER ONE เข้าไปด้วยทุกครั้ง กำหนดให้วันที่ 26 มิถุนายน ของทุกปี เป็นวันมหกรรมรวมพล “กล้วยไข่พันธุ์ดี TO BE NUMBER ONE กำแพงเพชร” ให้สมาชิกร่วมกันจัดกิจกรรมต่อต้านยาเสพติดทั่วทั้งจังหวัด มีการพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่อย่างต่อเนื่อง ด้านการพัฒนาองค์ความรู้ เช่น การศึกษาปัจจัยพยากรณ์พฤติกรรมการป้องกันการสูบบุหรี่ของนักเรียนระดับมัธยมศึกษา การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความรอบรู้ด้านสุขภาพทางเพศของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น การศึกษาความฉลาดทางอารมณ์ของสมาชิกชมรม TO BE NUMBER ONE กลุ่มต้นแบบประเภทชุมชน และ การศึกษาความพึงพอใจต่อการดำเนินงานโครงการ TO BE NUMBER ONE ประเภทสถานศึกษาด้านการพัฒนานวัตกรรมเช่น ทูบีน้อย ซีซั่น2 บันได IDOL KPP สู่เวทีระดับประเทศ คู่มือกล้วยไข่พันธุ์ดี TO BE CAMP และ คุกยิ้มโมเดล เป็นต้น
นายดุรงค์ฤทธิ์ ศิริวัฒนพันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี กล่าวว่าในปี 2567 จังหวัดสระบุรีได้ประกาศนโยบาย “ทุกภาคส่วนรวมเป็นหนึ่ง หนุนเยาวชน เสริมคนสระบุรี สร้างสังคมดีปลอดยาเสพติด” เป็นแนวทางดำเนินงานโครงการ TO BE NUMBER ONE เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ให้หน่วยงานรับทราบและถือปฏิบัติ มีการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ โดยจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ต่อยอด องค์ความรู้ ถอดบทเรียนจากประสบการณ์การทำงานของผู้ปฏิบัติงานและเครือข่ายสมาชิกทั้งจังหวัด ในปี 2567 จ.สระบุรีมีผลงานองค์ความรู้ ได้แก่ คู่มือ 1 เรือนจำ 1 ความดี 1 ทูบีนัมเบอร์วัน (Plus) เพื่อให้สมาชิกเรือนจำ จ.สระบุรีมีความรู้ทักษะในการดำเนินชีวิต และแก้ไขปัญหา หลังพ้นโทษสามารถกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา มีงานทำ และเป็นจิตอาสาของชุมชน และยังขยายองค์ความรู้ไปใช้ในสถานพินิจเด็กและเยาวชนจังหวัดสระบุรี คู่มือ เด็กสระบุรี TO BE NUMBER ONE กตัญญูแทนคุณแผ่นดิน (Plus) เป็นหลักสูตรการเรียนรู้ในรูปแบบเสริมสร้างประสบการณ์ชีวิตนำมาใช้ในโรงเรียนและชุมชน ต่อยอดพัฒนาเป็นมัคคุเทศก์น้อยทูบีอำเภอพระพุทธบาท คู่มือ The Hero นายอำเภอ TO BE NUMBER ONE ระดับอำเภอ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานสร้างความเข้มแข็งและขยายชมรมประเภทต่างๆ ในอำเภอ และยังมีนวัตกรรม SARABURI Soft Power เผยแพร่ให้กับสมาชิกชมรม TO BE NUMBER ONE สร้างการเรียนรู้รุ่นสู่รุ่น สร้างสัมพันธ์ระหว่างครอบครัว ชุมชน และสร้างอาชีพ และพัฒนาคู่มือ Re and Up skill Plus ในรูปแบบ E Book ผ่าน QR Code ส่งเสริมการเรียนรู้ทักษะ Design Thinking ให้กับสมาชิกชมรมในสถานศึกษาและในชุมชน ผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมจากการดำเนินงานที่ผ่านมาคือมีเครือข่ายผู้ปฏิบัติงาน แกนนำ และสมาชิก TO BE NUMBER ONE ได้รับโอกาสที่ดีในการดำเนินชีวิต สามารถเข้าศึกษาในสถาบันต่างๆ ได้รับการยกย่อง และโอกาสที่ดีทางสังคม เช่น เป็นวิทยากร มีอาชีพ มีงานทำ และมีคุณภาพชีวิตที่ดี และยังสามารถนำแนวทางโครงการ TO BE NUMBER ONE ไปเป็นแนวทางพัฒนาคุณภาพชีวิตและแก้ไขปัญหาพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ของเยาวชนในจังหวัดได้ เช่น ลดปัญหาการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร ลดปัญหาการฆ่าตัวตายในวัยรุ่น เยาวชนกลุ่มเป้าหมายได้รับการยอมรับทางสังคม ฯลฯ
นายชัชวาลย์ เบญจสิริวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่าจังหวัดอุบลราชธานี เป็นจังหวัด TO BE NUMBER ONE มีการขับเคลื่อนนโยบายภายใต้วิสัยทัศน์ “เด็กและเยาวชนจังหวัดอุบลราชธานี เก่ง ดี มีภูมิคุ้มกัน ห่างไกลยาเสพติด”โดยได้กำหนดนโยบาย TO BE NUMBER ONE เป็นวาระสำคัญของจังหวัด มีการลงนามในบันทึกข้อตกลง (MOU)ระหว่างหัวหน้าส่วนราชการ ระดับจังหวัดและนายอำเภอทุกอำเภอ ดำเนินงานตาม 3 ยุทธศาสตร์หลักของโครงการและจัดกิจกรรมต่างๆ อาทิ กิจกรรมรณรงค์สร้างกระแส TO BE NUMBER ONE ในวันงดสูบบุหรี่โลก บริเวณถนนคนเดินริมมูล เดินรณรงค์คนอุบลไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า การแสดงละครสั้นของ TO BE NUMBER ONE IDOL ในระดับอำเภอมีกิจกรรมรณรงค์ทุกอำเภอ 25 อำเภอ ในสถานศึกษา มีการเปิดรับสมัครสมาชิก ผ่านแอพพลิเคชั่น LINE FACEBOOK และ Social media อื่นๆ จัดกิจกรรม TO BE NUMBER ONE MEETING เพื่อแลกเปลี่ยนและวางแผนการดำเนินงานในอนาคต ในสถานประกอบการ ประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจกับนายจ้างให้ตระหนักในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด และสมัครใจเข้าร่วมโครงการโรงงานสีขาว และเชิญชวนให้จัดตั้งชมรม TO BE NUMBER ONE ในสถานประกอบการ มีกิจกรรมเดินรณรงค์ต่อต้านยาเสพติดในวันแรงงานแห่งชาติ 1 พฤษภาคม ของทุกๆปี นอกจากนี้ยังดำเนินการตามยุทธศาสตร์การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันทางจิตใจ พัฒนาศักยภาพของสมาชิก ผ่านกิจกรรมการเข้าค่ายพัฒนาสมาชิก อบรมแกนนำ และพัฒนาเครือข่ายด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยส่งบุคลากร เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบไปศึกษาดูงานเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ตลอดจนมีการพัฒนาการดำเนินงานโครงการ TO BE NUMBER ONE ของจังหวัดให้มีความต่อเนื่อง ทันสมัย เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเด็กและเยาวชนเพิ่มมากขึ้น จากการดำเนินงานส่งผลให้จังหวัดอุบลราชธานีได้รับรางวัล จังหวัด TO BE NUMBER ONE ระดับเพชร ในปี 2567
ตัวอย่างความสำเร็จเหล่านี้คือการถ่ายทอดแนวทางการทำงานในโครงการ TO BE NUMBER ONE ระดับจังหวัด ที่ผลลัพธ์ไม่ใช่เพียงแค่ผลงานหรือรางวัลที่ได้รับ หากแต่เป็นการที่ทุกภาคส่วนมีเป้าประสงค์หรือจุดมุ่งหมายเดียวกันที่จะร่วมกันป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดให้กับเยาวชนของชาติ และพัฒนาสร้างเสริมภูมิคุ้มกันทางจิตใจให้กับเยาวชนเพื่อให้ห่างไกลจากยาเสพติดอย่างยั่งยืน