สปคม. กรมควบคุมโรค นำเสนอผลงานวิชาการ และบูทผลงาน uVilleCare คว้ารางวัล Popular Vote อันดับ 1 ในงานประชุมวิชาการป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพ ประจำปี พ.ศ. 2567

   เมื่อ : 25 มิ.ย. 2567

เมื่อวันที่ 18-20 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จัดประชุมวิชาการป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพ ประจำปี พ.ศ. 2567 (Thailand Disease Prevention and Control Conference: Thai DPACC 2024) ภายใต้แนวคิด Shaping the Future of Public Health 2030 เสริมความรู้ทางวิชาการเพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมายการมีสุขภาพ และความเป็นอยู่ที่ดีตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ณ ศูนย์การประชุม อิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี

สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) ร่วมนำเสนอ 4 ผลงานวิชาการ ได้แก่ 1) จัดแสดงบูทผลงานเด่น เรื่อง “โครงการพัฒนารูปแบบและกลไกการป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพอย่างมีส่วนร่วมสำหรับหมู่บ้านจัดสรรในพื้นที่เขตเมือง (uVilleCare) 2) จัดแสดงบูทผลงานเด่น เรื่อง “การประยุกต์ใช้กระบวนการคิดเชิงการออกแบบเพื่อพัฒนาเว็บแอปพลิเคชัน ในการบริหารทรัพยากรรองรับสถานการณ์ปกติและภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง” 3) นำเสนอผลงานวิชาการภาคบรรยาย (Oral Presentation) กลุ่มแผนงานควบคุมโรคไม่ติดต่อและปัจจัยเสี่ยง (NATI) เรื่อง การศึกษาภาวะสุขภาพ ความรู้และการเตรียมตัวก่อนเดินทางของชาวไทยมุสลิมผู้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ที่มีโรคประจําตัว ณ สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง ปี 2566 และ 4) นำเสนอผลงานวิชาการภาคโปสเตอร์ (Poster Presentation) กลุ่มประเด็นเชิงบูรณาการด้านการป้องกันควบคุมโรคและเชิงระบบที่สำคัญ (System) เรื่อง การพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครสาธารณสุขแรงงานข้ามชาติ (อสต.) ด้านการเฝ้าระวังป้องกัน ควบคุมโรค พื้นที่กรุงเทพมหานคร

ภายในงานได้มีการ Vote บูทผลงานเด่นยอดนิยม และบูทผลงานของ สปคม. เรื่อง “โครงการพัฒนารูปแบบและกลไกการป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพอย่างมีส่วนร่วมสำหรับหมู่บ้านจัดสรรในพื้นที่เขตเมือง (uVilleCare) ได้รับรางวัล Popular Vote บูทผลงานเด่นยอดนิยม อันดับ 1

 

นายสุขสันต์ จิตติมณี นักวิชาการสาธารณสุขเชี่ยวชาญ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กรมควบคุมโรค เปิดเผยว่าโครงการ uVilleCare ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ในการดำเนินงานขับเคลื่อนกลไกการจัดการปัญหาทางด้านโรคและภัยสุขภาพในหมู่บ้านจัดสรรโดยมุ่งหวังการเข้าถึงการให้บริการ เพื่อให้ประชาชนในหมู่บ้านจัดสรรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อีกทั้งส่งเสริมการสร้างการมีส่วนร่วมของผู้พักอาศัย ผู้นำชุมชน คณะกรรมการหมู่บ้าน นิติบุคคล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยบริการด้านสุขภาพ และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อให้เกิดความเข้าใจ และมีทิศทางในการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง โดยสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง ได้ถ่ายทอดแนวทางการดำเนินงานยกระดับการดูแลสุขภาพงานป้องกันควบคุมโรคในหมู่บ้านจัดสรร จัดเตรียมสื่อประชาสัมพันธ์ทั้งรูปแบบเอกสารและไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อส่งเสริมให้ความรู้เรื่องโรคและภัยสุขภาพ อาทิ โรคไข้หวัดใหญ่ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง และโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ให้กับกลุ่มเป้าหมายหลักที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง เช่น สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1-12 กรมควบคุมโรค สำนกงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ศูนย์บริการสาธารณสุข นิติบุคคลหรือกรรมการหมู่บ้าน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.)

นายสุขสันต์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากผลการดำเนินงานโครงการนำร่องในหมู่บ้านจัดสรร พบว่าการดำเนินงานเน้นหมู่บ้านจัดสรรต้นแบบการป้องกันควบคุมโรคและสร้างเสริมสุขภาพยังมีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับหมู่บ้านจัดสรรทั้งหมดในประเทศไทย อีกทั้งการขยายพื้นที่ไปยังชุมชนอาคารสูงเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะปัจจุบันชุมชนอาคารสูงเป็นที่นิยมของคนเมือง โดยปัจจุบันโครงการอยู่ในระยะที่ 2 หรือเรียกว่า uVilleCare Plus (โครงการพัฒนารูปแบบการสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกัน ควบคุมโรคและภัยสุขภาพ อย่างมีส่วนร่วม สำหรับหมู่บ้านจัดสรร และชุมชนอาคารสูงเขตเมืองในระยะเปลี่ยนผ่านการถ่ายโอนภารกิจของหน่วยบริการสาธารณสุขสู่หน่วยบริการส่วนท้องถิ่น) เป้าหมายเพื่อพัฒนามาตรฐานหมู่บ้านจัดสรรและชุมชนอาคารสูง รวมถึงพัฒนาเครือข่าย และรูปแบบด้านการสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกัน ควบคุมโรคและภัยสุขภาพ และเพื่อประเมินสถานะสุขภาพ ความต้องการด้านสุขภาพของผู้พักอาศัยในหมู่บ้านจัดสรร และชุมชนอาคารสูง อันจะส่งผลให้ประชาชนในหมู่บ้านจัดสรรและชุมชนอาคารสูงมีสุขภาพที่ดี เกิดเป็นพื้นที่ Blue Zone ทั้งนี้สอดรับกับนโยบายกระทรวงสาธารณสุข ปี พ.ศ. 2567 ประเด็นเศรษฐกิจสุขภาพ ต้นแบบพื้นที่อายุยืน

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ