BAM เปิดตัว Mobile AMC แห่งแรกในประเทศไทย App เดียวจบ ครบทุกฟังก์ชัน

   เมื่อ : 12 มิ.ย. 2567

BAM เปิดตัว “BAM Choice” AMC Mobile Application แบบครบวงจรแห่งแรกในประเทศไทย มุ่งหวังเป็นแพลตฟอร์มที่ตอบโจทย์ลูกค้าปรับโครงสร้างหนี้ (NPL) และลูกค้าซื้อทรัพย์ (NPA) ให้เข้ามาทำธุรกรรมต่างๆ ผ่านโทรศัพท์มือถือได้ด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบยอดค้างชำระ ชำระเงินออนไลน์ และแจ้งเตือนอัตโนมัติเมื่อครบกำหนดชำระ รวมถึงเมนูประนอมหนี้ออนไลน์ (E-TDR) ที่จะเพิ่มความสะดวกให้ลูกหนี้ สามารถกำหนดแผนและปรับเปลี่ยนแผนประนอมหนี้ได้บนช่องทางออนไลน์ พร้อมมีเมนูค้นหาและจองซื้อทรัพย์ที่ได้รวบรวมทรัพย์สินรอการขายทำเลดีราคาโดนของ BAM จำนวนกว่า 18000 รายการ ให้ลูกค้าได้เลือกช้อปผ่านหน้าจอ

นายบัณฑิต อนันตมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM กล่าวว่า BAM เตรียมเปิดตัว Mobile AMC ครบวงจร (One Stop Service) แห่งแรกในประเทศไทย ด้วยแพลตฟอร์มตอบโจทย์การให้บริการลูกหนี้ปรับโครงสร้างหนี้ และลูกค้าซื้อทรัพย์สินรอการขาย ด้วยการสร้างระบบการให้บริการลูกค้าผ่านช่องทาง Online โดยมีระบบการชำระเงิน ตรวจสอบภาระหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้  รวมทั้งการซื้อทรัพย์ผ่าน Mobile Application ชื่อ BAM Choice ทั้งนี้ แอปพลิเคชัน BAM Choice จะแบ่งการเปิดใช้งานออกเป็น 2 เฟส โดยเฟสแรกจะเริ่มเปิดให้บริการในเดือนมิถุนายนนี้ โดยจะเปิดให้ลูกค้าลงทะเบียนสมัครสมาชิกเพื่อรับข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะโปรโมชั่น และสิทธิประโยชน์สำหรับลูกหนี้และลูกค้า รวมถึงสามารถตรวจสอบยอดภาระหนี้คงเหลือ ชำระหนี้ออนไลน์ ดูใบเสร็จรับเงิน และมีระบบแจ้งเตือนอัตโนมัติเมื่อครบกำหนดชำระ ในขณะที่ลูกค้าซื้อทรัพย์สามารถดูรายการทรัพย์ที่น่าสนใจ โดยมีช่องทางในการติดต่อเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ และมีโปรแกรมคำนวณสินเชื่อ ต่อจากนั้น ในเฟสที่สอง ลูกหนี้สามารถกำหนดแผน    และปรับเปลี่ยนแผนประนอมหนี้ได้ผ่าน BAM Choice Application รวมถึงการจัดทำ E-KYC ซึ่งในส่วนของลูกค้าที่สนใจทรัพย์สินรอการขายของ BAM จะสามารถจองซื้อทรัพย์และนัดหมายเจ้าหน้าที่เพื่อไปดูทรัพย์ได้ โดยลูกค้าที่ซื้อทรัพย์แบบผ่อนชำระก็สามารถดูยอดคงเหลือการผ่อนชำระ การชำระค่างวด และดูใบเสร็จรับเงินผ่าน Application ดังกล่าว ซึ่งบริการแบบครบวงจรจะแล้วเสร็จภายในไตรมาสสามของปี 2567 นี้

 

นายบัณฑิตกล่าวอีกว่า BAM วางเป้าหมายในการเป็น Digital Enterprise ในอนาคต ซึ่งต้องมีการเตรียมความพร้อมองค์กรในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างระบบบริหารจัดการสินทรัพย์ (New Cores System) ที่ถือว่าเป็นหัวใจหลักของธุรกิจ AMC ซึ่งจะประกอบไปด้วยระบบสำหรับงาน NPL  NPA ระบบเกี่ยวกับงานคดี รวมทั้ง ระบบบัญชีการเงิน การจัดซื้อจัดจ้าง เป็นต้น ขณะเดียวกัน การเป็น Digital Enterprise จำเป็นต้องมีการบริหารจัดการข้อมูลที่ครบถ้วนถูกต้องแม่นยำ (Data Management)  และสามารถนำมาใช้ในการวิเคราะห์ ประมวลผล เพื่อประกอบการตัดสินใจได้ ดังนั้น BAM ได้มีการสร้างศูนย์ข้อมูลกลาง (DATA Center) เพื่อให้สามารถใช้ข้อมูลองค์กร

และการจัดทำรายงานทั้งหมด โดยมีข้อมูลจากแหล่งเดียวกัน เพื่อกลายเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data Driven Organization) รวมถึงระบบ Lead Management   ที่จะช่วยรวบรวมข้อมูลกลุ่มเป้าหมายที่สนใจสินค้าของ BAM และความต้องการของกลุ่มลูกหนี้เพื่อนำมาใช้ในการปรับโครงสร้างหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งได้เตรียมนำ AI มาช่วยในการวิเคราะห์ลูกหนี้ ทำให้สามารถจำแนกลูกหนี้กลุ่มต่าง ๆ เพื่อหาแนวทางบริหารจัดการที่เหมาะสมต่อไป

 

นายบัณฑิต กล่าวในตอนท้ายว่าหัวใจสำคัญที่จะผลักดันให้การเป็น Digital Enterprise ประสบความสำเร็จนอกเหนือจากการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการแล้ว การพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับอนาคต Capability Development มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น BAM จึงวางแผนพัฒนาบุคลากรรายบุคคล (Individual Development Plan) อย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะการพัฒนาทักษะที่สำคัญและเหมาะสมกับการทำงาน พร้อมทั้งการจัดทำแผนพัฒนา Successor & Talent และพัฒนา Core Capability เช่น งานสำหรับเจ้าหน้าที่ปรับโครงสร้างหนี้ เจ้าหน้าที่จัดการและจำหน่ายทรัพย์ รวมทั้ง งานคดี งานประเมินราคาทรัพย์สิน