‘เฟิร์นริมธาร รีสอร์ท’ เช็คอินฟินธรรมชาติตั้งแต่ก้าวแรกที่สัมผัส SME D Bank เติมทุนคู่เสริมการตลาด เคียงข้างพาข้ามผ่านพิษโควิด-19
หัวใจสีเขียวพร้อมขับเคลื่อนธุรกิจ “เฟิร์นริมธาร รีสอร์ท” จ.แม่ฮ่องสอน ตั้งขึ้นมาด้วยแนวคิดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (Eco-Tourism) เกิดจากการร่วมทุนจากกองทุนร่วมทุนของรัฐบาล ตามนโยบายกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค เมื่อปี 2535 เพื่อสร้างความอยู่ดีกินดีให้คนในชุมชน ควบคู่กับการปลูกจิตสำนึกอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ไม่ได้ปักหมุดไว้เฉพาะคนในชุมชนฝ่ายเดียว แต่รวมถึงนักท่องเที่ยว ผู้ก้าวเข้ามาสัมผัสยังสถานที่แห่งนี้
คนสำคัญที่เป็นผู้ขับเคลื่อน คือ คุณ “ธวัชชัย น้าทิพากร” ผู้บริหาร ของบริษัท เฟิร์นริมธาร จำกัด ที่ประกอบกิจการ โรงแรม รีสอร์ท ที่พักสำหรับผู้รักธรรมชาติ เล่าจุดเริ่มต้นเข้ามาทำธุรกิจ ว่า เกิดจากความต้องการที่จะเห็นการลงทุนในเรื่องที่พักเพื่อรองรับการท่องเที่ยวของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่มีรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น มีความสอดคล้องกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยให้ท้องถิ่นและชุมชน ได้มีส่วนร่วม และมองเห็นศักยภาพของพื้นที่แห่งนี้ ที่เดิมเป็นพื้นที่ทำนาปลูกข้าวของชาวบ้านในพื้นที่ จึงได้ตัดสินใจลงทุนสร้างที่พักขึ้นมา ภายใต้แนวคิดเรื่องการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าที่รักธรรมชาติและมีความสนใจในวัฒนธรรมประเพณีของท้องถิ่นจึง ถือกำเนิด “เฟิร์นริมธาร รีสอร์ท” มาจวบจนถึงวันนี้กว่า 30 ปีแล้ว
จุดเด่นของ “เฟิร์นริมธาร รีสอร์ท” คือการพัฒนาพื้นที่ซึ่งเดิมเป็นที่ทำนาปลูกข้าวกว่า 18 ไร่ ให้เป็นบ้านป่าสำหรับผู้รักธรรมชาติ โดยได้ทำการปลูกต้นไม้พืชพรรณนานาชนิด ที่เป็นไม้ในท้องถิ่น เพื่อให้เป็นแหล่งอยู่อาศัยของนกและสัตว์นานาชนิดที่มีอยู่ตามธรรมชาติ เพื่อให้เหมาะแก่การพักกายพักใจ แต่หากต้องการทำกิจกรรมเดินป่า ดูนก สามารถก้าวเท้าออกจากที่พัก เพื่อชื่นชมธรรมชาติอย่างใกล้ชิดได้ทันที ไม่เพียงเท่านั้นยังต่อยอดกิจกรรม ทางการเกษตรปลูกข้าว พืชผักสวนครัวภายใต้ แนวคิดเรื่องเกษตรอินทรีย์ เพื่อให้ลูกค้าได้บริโภคอาหารที่ปลอดภัย จัดกิจกรรมการปลูกข้าววันแม่ และ เกี่ยวข้าววันพ่อ ขึ้นทุกปี เพื่อให้นักท่องเที่ยวมีส่วนร่วม ตระหนักรู้รักสิ่งแวดล้อม เพื่อเปิดโอกาสให้คนในท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมกับโครงการ พนักงานทั้งหมดจึงเป็นคนไทยใหญ่และชาวกะเหรี่ยงซึ่งเป็นคนในชุมชน รวมประมาณ 30 คน สร้างอาชีพและรายได้ให้กับพวกเขามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ส่งผลให้จากช่วงแรกที่มีบ้านพัก 7 หลัง เพื่อทดลองตลาด จนถึงปัจจุบันเรามีที่พักรองรับกว่า 35 หลัง
กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ จะเป็นนักท่องเที่ยว ที่มาจากทั่วโลก ทั้งยุโรปและสหรัฐฯ ที่ต้องการพักผ่อน สัมผัสกับธรรมชาติ โดยเน้นสร้างการเรียนรู้เรื่องของท้องถิ่น สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ การอนุรักษ์ ให้แก่นักท่องเที่ยว
“เพื่อให้ได้กลุ่มนักท่องเที่ยวเป้าหมายที่มีใจรักธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางรีสอร์ทจึงจัดให้มีสิ่งอำนวยควาสะดวกเท่าที่จำเป็นในห้องพักไม่มี ทีวี สิ่งอำนวยความสะดวกที่เกินความจำเป็น เพื่อที่ลูกค้าจะได้ใช้เวลาอยู่กับธรรมชาติและร่วมกิจกรรมทางธรรมชาติต่างๆ แม้ว่าในปัจจุบันจะได้ให้บริการสัญญาน WIFI ซึ่งนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติให้ความสนใจมากและเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวมากกว่า 80 % ของลูกค้าของรีสอร์ทและในปัจจุบันนักท่องเที่ยวชาวไทยเริ่มเข้ามา ทำให้รู้ว่ากลุ่มคนไทยที่นิยมท่องเที่ยวลักษณะนี้มีอยู่จำนวนมากเช่นกัน” คุณธวัชชัย ระบุ
ปัจจุบัน “เฟิร์นริมธาร รีสอร์ท” มีทั้งหมด 35 หลัง รูปแบบการปลูกสร้างอาคารที่พัก ทั้งหมด มีรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบท้องถิ่นของแม่ฮ่องสอน เน้นการนำเอาภูมิปัญญาของคนในท้องถิ่น มานำเนอลักษณะเว้นพื้นที่ให้ผู้พักรู้สึกถึงความเป็นส่วนตัว โดยนักท่องเที่ยวจะเดินทางเข้าใช้บริการ ในช่วงเดือน ตุลาคม-กุมภาพันธ์ จากนั้นเว้นว่างยาวเพราะเริ่มเข้าสู่ฤดูร้อน และตลาดฝั่งยุโรปกลับมาอีกครั้งในเดือน กรกฎาคม-สิงหาคม
“การทำธุรกิจท่องเที่ยวจะมีช่วงโลซีซัน ในช่วงหน้าร้อน ปัญหาหมอกควัน ไฟป่า ส่งผลกระทบพอสมควร แต่เราต้องคงรักษาพนักงานไว้ หรือตอนสถานการณ์โควิด ปิดกิจการไป 2 ปี แต่ไม่สามารถทิ้งร้างได้ ค่าใช้จ่ายยังคงเหมือนเดิม ตอนนั้นถือว่าเป็นภาวะยากลำบากสำหรับธุรกิจท่องเที่ยวโรงแรมที่พัก”
สถานการณ์เกิดคาดเดา ตั้งตัวไม่ทัน โควิด-19 ที่เกิดขึ้น ยอมรับว่าช่วงเกิดขึ้นใหม่ ๆ ที่หลายคนคิดว่าใช้เวลาไม่นานคงคลี่คลาย ตนเองก็คิดเช่นนั้น คิดว่าน่าจะกระทบแค่ 2-3 เดือน จึงใช้ช่วงเวลานั้นลงทุน ขอสินเชื่อกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank เพื่อนำมาปรับปรุงกิจการรองรับการท่องเที่ยว แต่สถานการณ์ไม่เป็นไปตามคาดไว้
เมื่อวิกฤตโควิด-19 ทอดยาวใช้เวลานานกว่า 2-3 ปี ผลกระทบรายได้ที่เคยรับกลับสูญหาย สวนทางรายจ่ายที่ยังมีต่อเนื่อง สร้างความหนักใจอย่างยิ่ง แต่เนื่องจากเป็นลูกค้าของ SME D Bank ต่อเนื่อง ทั้งด้านการเงินพาเข้าสู่มาตรการ ผ่อนปรนการชำระหนี้ ควบคู่ช่วยประชาสัมพันธ์ เสริมการตลาด ผู้บริหารหมั่นแวะเวียนมาเยี่ยมให้กำลังใจไม่เคยขาด เรียกว่าไม่ทอดทิ้งผู้ประกอบการจริงๆ
และเมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย “เฟิร์นริมธาร รีสอร์ท” ก็สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจเป็นไปตามเข็มทิศที่ตั้งไว้ ด้วยแนวคิดช่วยเหลือคนในชุมชนและสิ่งแวดล้อม โดยมี SME D Bank ที่เคียงข้างธุรกิจต่อเนื่อง ช่วยให้เราเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ก่อเกิดชุมชนเข้มแข็งและยั่งยืน สะท้อนจากผลรางวัลที่พักประเภทรีสอร์ท Thailand Tourism Award ระดับ Excellence จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และได้รับรางวัลสถานประกอบการที่พักสีเขียว Green Accommodations ระดับ Gold Class จากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และรางวัลธรรมาภิบาลธุรกิจดีเด่นระดับจังหวัดจาก กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์
แนวโน้มธุรกิจ ปัจจุบันการท่องเที่ยวภายใต้แนวคิดเชิงนิเวศ คู่แข่งแทบมองไม่เห็น เพราะการลงทุนภายใต้แนวคิดนี้ค่อนข้างจะเป็นการลงทุนที่ใช้ระยะเวลาในการคืนทุน และเป็นธุรกิจที่ต้องอาศัยใจรักและความมุ่งมั่น อย่างสูง หลังจากโควิด-19 คลี่คลาย นักท่องเที่ยวกลับมาคึกคักอีกครั้ง เปิดใจและต้องการสัมผัสธรรมชาติมากขึ้น โดยเฉพาะคนไทย ที่ตัวเลขจองห้องพักสูงประมาณ 20 % ส่วนหนึ่งรับแรงกระตุ้นด้านการท่องเที่ยวจากภาครัฐ
“เฉลี่ยตัวเลขนักท่องเที่ยวต่อปีประมาณ 7000-10000 กว่าคน ราคาห้องพักประมาณ1500 – 2000. บาท (พักได้ 2 คน) พร้อมอาหารเช้าที่มาจากแปลงปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ของเราเอง ส่วนกิจกรรมไม่คิดค่าบริการ ลูกค้าต้องการเดินป่าก็สามารถเดินได้เอง โดยอาจมีค่าใช้จ่ายให้กับทางอุทยาน เส้นทางเดินใช้เวลา 2-4 ชั่วโมง ส่วนนักท่องเที่ยวท่านใดไม่ชอบเดินป่า ก็มีสระว่ายน้ำ โยคะเฮ้าส์ Rice Terrace Bar สำหรับชมพระอาทิตย์ตกดิน Coffee @ Fern ร้านกาแฟที่นำเมล็ดกาแฟที่ปลูกในท้องถิ่น มาให้บริการหรือต้องการรับประทานอาหารเราก็มีร้านอาหารให้บริการตลอด ทั้ง 3 มื้อ”
“ผมทำธุรกิจโดย เริ่มจากแนวคิด อุดมการณ์ เจตนารมณ์ ความมุ่งหวัง ความชอบ ความฝัน โดยไม่ได้เอาผลตอบแทนมาเป็นตัวกำหนดการลงทุน ทำในสิ่งที่ชอบ รักในสิ่งที่ทำ ซึ่งถ้าทำด้วยความตั้งอกตั้งใจ สุดท้ายเงินจะตามมาเอง อีกสิ่งที่สำคัญคือต้องเป็น การลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบทั้งต่อ ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม สังคม ชุมชนและประเทศชาติ มีจริยธรรม คุณธรรม รับผิดชอบต่อการทำหน้าที่ของผู้ประกอบการที่ดี ถือเป็นพื้นฐานที่ผู้ประกอบการทุกคนต้องตระหนักรู้ ส่วนต่อมาคือการไม่หยุดเรียนรู้ ติดตามนำพาตัวเองไปเติม องค์ความรู้ต่างๆอยู่เสมอ ๆ เข้าร่วมกิจกรรมที่ภาครัฐและเอกชนจัดขึ้นอยู่เสมอและสำคัญที่สุดคือต้องลงมือทำทุกอย่างด้วยตัวเอง สร้างสมประสบการณ์จากหน้างาน” คุณธวัชชัย กล่าวทิ้งท้าย