เคทีซีพัฒนาบุคลากรเชิงรุก เปิดคอร์ส Six Sigma โดย Master Black Belt พร้อมมอบใบรับรอง Green Belt

   เมื่อ : 21 มี.ค. 2567

“เคทีซี” หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดคลาสอบรมหลักสูตร Six Sigma Green Belt ณ ห้องประชุมใหญ่ “เคทีซี“ ชั้น 11​ อาคารสมัชชาวาณิช 2 โดยมีนางสาวชนิดาภา สุริยา  ผู้บริหารสูงสุด สายงานบริการลูกค้าและสนับสนุนธุรกิจ ซึ่งได้รับการรับรองเป็น Master Black Belt จากสถาบัน Global Six Sigma Experts ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นวิทยากรและโค้ชฝึกอบรม เพื่อเพิ่มทักษะให้ผู้บริหารเคทีซีระดับกลาง (Middle Management) สามารถนำเทคนิค Six Sigma ไปใช้ปรับปรุงกระบวนการทำงานและเพิ่มผลลัพธ์ทางธุรกิจให้สูงขึ้น ทั้งการเพิ่มประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า ลดต้นทุนการดำเนินงาน และเพิ่มผลกำไรจากการดำเนินโครงการปรับปรุง Six Sigma ในระดับ Certificated Green Belt ได้อย่างเห็นผลชัดเจน โดยมีผู้บริหารจากหน่วยงานต่างๆ เข้ารับการอบรมเป็นเวลา 9 สัปดาห์  ได้แก่ Customer Service & Business Support / Operations Control & Merchant Operations / Merchant Acquiring / Recovery / Auto Loan / Item Processing และ Process Development พร้อมนำเสนอโครงการพัฒนาคุณภาพที่เกี่ยวเนื่องกับกลยุทธ์ขององค์กร และกลยุทธ์หรือแผนการดำเนินงานของหน่วยงาน และรับใบประกาศรับรอง Green Belt 

นายภาณุมาศ  ธีรสันติกุล  หนึ่งในผู้เข้ารับการอบรมและนำเสนอโครงการเพิ่มอัตราความสำเร็จในการขายผลิตภัณฑ์สินเชื่อทางโทรศัพท์  กล่าวว่า “การเรียนหลักสูตร Six Sigma สามารถนำมาปรับใช้ให้เกิดผลสำเร็จในงานจริง โดยเห็นได้จากผลที่เกิดขึ้นซึ่งดีกว่าที่คาดหวังมาก และสามารถนำหลักการที่เรียนมาต่อยอดในการปรับปรุงกระบวนการทำงานอื่นๆ เพิ่มได้ โดยที่ไม่มีต้นทุนเพิ่ม” 

 

 นางสาววิริยา  กลมอ่อน  ผู้นำเสนอโครงการ Improve Agent Productivity on Process Dispute ซึ่งเป็นโครงการเพิ่มประสิทธิภาพงาน ด้วยการลดเวลาที่ใช้ทำงานในกระบวนการลง สามารถใช้จำนวนพนักงานเท่าเดิม รองรับปริมาณงานที่เพิ่มขึ้น กล่าวถึงการได้เรียน Six Sigma ว่า “รู้สึกดีที่เคทีซีมอบโอกาสให้พนักงานได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และท้าทายอยู่เสมอ  ประทับใจอาจารย์ผู้สอน (Master Black Belt) ที่ทุ่มเทถ่ายทอดความรู้ให้กับลูกศิษย์ รวมถึงทีมพี่เลี้ยง (Mentor) ที่คอยสนับสนุนช่วยเหลือการจัดทำโครงการให้สำเร็จ สำหรับประโยชน์ที่ได้จากการอบรมครั้งนี้ คือ หลักการคิดในการทำโครงการอย่างมีประสิทธิภาพ และได้พัฒนาตนเองให้มีความรู้ความสามารถในด้านอื่นๆ เพิ่มเติม รวมทั้งนำกระบวนการคิดจากการเรียน Six Sigma มาใช้ในการบริหารทีมและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของทีมได้”

Six Sigma เป็นวิธีการปรับปรุงคุณภาพเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของกระบวนการทางธุรกิจ ที่มีการใช้งานมานานในระดับสากล และหลายอุตสาหกรรมทั่วโลก เพราะเป็นวิธีการที่ให้ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม วิธีการของ Six Sigma มีการกำหนดขั้นตอนไว้อย่างชัดเจน โดยเริ่มจากการค้นหาปัญหา หรือความสูญเสียของกระบวนการที่มีอยู่และจัดทำแผนการปรับปรุงแก้ไข โดยต้องคำนึงถึงความต้องการของลูกค้าควบคู่ไปด้วย ตามวิธีการ DMAIC ซึ่งมีขั้นตอนการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ดังนี้ Define รู้ปัญหาเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์หรือกระบวนการ Measure รวบรวมข้อมูลเพื่อวัดผลกระบวนการปัจจุบัน  Analyze การวิเคราะห์หาปัจจัยที่เป็นสาเหตุของปัญหา  Improve ปรับปรุงแก้ไขปัญหา โดยอาจจะมีการวิเคราะห์ข้อมูลและทดสอบ เพื่อเลือกวิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุด  Control ติดตามตรวจสอบและควบคุมการแก้ไขปัญหา เพื่อป้องกันการกลับมาเกิดซ้ำของปัญหา  โดย Six Sigma มีการใช้เทคนิคทางสถิติเข้ามาช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูล ต้องมีการเก็บข้อมูลและการวิเคราะห์ เพื่อจะได้รู้ว่าโอกาสในการปรับปรุงอยู่ตรงไหน และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ นำไปสู่การลดต้นทุน และเพิ่มผลกำไรให้กับองค์กร