รมว. พิมพ์ภัทรา เดินหน้าขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาลไทยสู่ตลาดโลก ปลื้ม SME D Bank ผนึก ดีพร้อม ‘รื้อ ลด ปลด สร้าง’ ยกระดับศักยภาพเอสเอ็มอีไทย 

   เมื่อ : 05 มี.ค. 2567

จ.ชุมพร 4 มีนาคม 2567 -  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เดินหน้าขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาลไทยสู่ตลาดโลก ชูกลไกบูรณาการใช้ศักยภาพหน่วยงานภายใต้สังกัด เชื่อมต่อจุดเด่นวัตถุดิบและการผลิตในพื้นที่ ปลื้มโมเดลความสำเร็จ SME D Bank จับมือ ดีพร้อม ผ่านการขยายเครือข่ายความร่วมมือ (DIPROM Connection) พร้อมชู “รื้อ ลด ปลด สร้าง” หนุนเอสเอ็มอีธุรกิจแปรรูปเนื้อโคมาตรฐานฮาลาล จ.ชุมพร เข้าถึงแหล่งทุนพร้อมความรู้และเทคโนโลยี ช่วยยกระดับเอสเอ็มอีในพื้นที่ภาคใต้ เกิดการกระจายรายได้สู่ประชาชนและชุมชน ผลักดันเศรษฐกิจท้องถิ่นและประเทศไทยให้เติบโตยั่งยืน

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวภายหลังเป็นประธานพิธีมอบสินเชื่อจากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank ให้แก่ บริษัท ดี แอนด์ แซด คอนซัลแทนท์ จำกัด ผู้ผลิตและแปรรูปเนื้อโค มาตรฐานฮาลาล จ.ชุมพร และผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในพื้นที่ภาคใต้ ว่า จากนโยบายรัฐบาลโดยการนำของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่มีเป้าหมายขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาลไทยสู่ “อาเซียน ฮาลาล ฮับ” (ASEAN Halal Hub) นำไปสู่การยกระดับเศรษฐกิจท้องถิ่นให้เข้มแข็ง ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรม จึงเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว โดยใช้กลไกในการนำศักยภาพของหน่วยงานภายใต้สังกัดมาบูรณาการการทำงานควบคู่กับใช้จุดเด่นในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศไทยมาต่อยอด โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ จ.ชุมพร ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีความพร้อมทั้งด้านวัตถุดิบและศักยภาพการผลิตอาหาร จึงเหมาะแก่การผลักดันเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลไทยสู่ตลาดโลก สามารถตอบโจทย์ความต้องการตลาดผู้บริโภคอาหารฮาลาลทั่วโลกที่มีมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ย 13.5% ตามสัดส่วนประชากรมุสลิมโลกที่ขยายตัวต่อเนื่อง   

ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม และ SME D Bank เร่งบูรณาการความร่วมมือในการขับเคลื่อนนโยบายอุตสาหกรรมฮาลาลไทย ด้วยการสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกลุ่มอุตสาหกรรมฮาลาลในพื้นที่ จ.ชุมพร และใกล้เคียงให้เข้าถึงแหล่งทุน เพื่อนำไปยกระดับศักยภาพและเสริมสร้างความเข้มแข็งของธุรกิจ โดยได้นำแนวทาง “รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง”ขจัดขั้นตอนการทำงานที่เป็นอุปสรรคควบคู่กับ
การสร้างบริการใหม่ ๆ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงแหล่งทุนพัฒนาธุรกิจได้ ไปพร้อม ๆ กับการเติมองค์ความรู้ ทักษะการประกอบการ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน ตัวอย่างเช่น บริษัท ดีแอนด์แซด คอนซัลแทนท์ จำกัด ที่ติดข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งทุน แต่ด้วยศักยภาพและโอกาสเติบโตของธุรกิจ กระทรวงอุตสาหกรรม จึงให้การสนับสนุนเพื่อเข้าถึงเงินทุนสำเร็จผ่านโครงการสินเชื่อแฟคตอริ่ง วงเงิน 10 ล้านบาท ซึ่งช่วยให้ผู้ประกอบการรายนี้ มีเงินไปลงทุนขยายกิจการ รับซื้อโคจากเกษตรกรในพื้นที่ชุมพร มาแปรรูปตามมาตรฐานฮาลาลจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ เกิดการสร้างงาน กระจายรายได้สู่ชุมชน และยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ต่อไป 

“สำหรับต้นแบบความสำเร็จที่เกิดขึ้น กระทรวงอุตสาหกรรมจะนำไปเป็นต้นแบบในการทำงานเพื่อผลักดันนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลต่อไป นอกจากนี้ ยังเตรียมที่จะส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในพื้นที่ภาคใต้ที่มีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจและมีความโดดเด่นของภาคบริการและการท่องเที่ยวกว่า 469500 ราย ให้มีความเข้มแข็ง ผ่านการพัฒนาทักษะ สร้างอาชีพ เข้าถึงแหล่งทุน มีรายได้เพิ่ม ลดรายจ่ายในภาคครัวเรือน ซึ่งเป็นกลไกสำคัญช่วยให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและช่วยยกระดับเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็ง” นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าว

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ