พญ. ปรมาภรณ์ เปิดกลยุทธ์ขับเคลื่อน BDMS สู่ความยั่งยืน หลังครองอันดับหนึ่ง ผู้นำในดัชนี DJSI ปี 2023

   เมื่อ : 22 ก.พ. 2567

ด้วยความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ทั้งมิติสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล คำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ส่งผลให้ BDMS ขึ้นที่ 1 ผู้นำด้านความยั่งยืนของโลก ปี 2023 ในกลุ่มบริการทางการแพทย์ (Health Care Providers & Services) ทั้งในระดับโลก (DJSI World) เป็นปีแรก และกลุ่มตลาดเกิดใหม่ (DJSI Emerging Markets) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ด้วยคะแนนอันดับ 1 มิติด้านสังคม จากการประเมินของ S&P Global 

 

แพทย์หญิงปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกลยุทธ์และเป้าหมายในการขับเคลื่อน BDMS สู่ความยั่งยืนว่า ปัจจุบันบริษัททั่วโลกให้ความสำคัญกับการบริหารและจัดการองค์กรอย่างยั่งยืน “สำหรับเรื่องนี้ต้องมองมากกว่า 10 ปีขึ้นไป โดยเกณฑ์การประเมินของประเทศไทยและต่างประเทศจะอยู่บนพื้นฐาน 3 ข้อเหมือนกัน คือ หลักการ E S G โดยในส่วนของ BDMS เริ่มจากเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ THSI (Thailand Sustainability Investment) ก่อน เมื่อเราผ่านเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์แล้ว BDMS ก็ตั้งเป้าหมายไปสู่ DJSI” แพทย์หญิงปรมาภรณ์ กล่าว

จากความสำเร็จครั้งนี้ BDMS ได้ดำเนินนโยบายสู่ความยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง โดยขับเคลื่อนด้านนวัตกรรม ลดความเลื่อมล้ำในการเข้าถึงการให้บริการด้านสุขภาพ พร้อมส่งเสริมการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมสู่สังคมคาร์บอนต่ำ มุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำและต้นแบบด้านการบริการสุขภาพเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีบนวิถีแห่งความยั่งยืน ที่ตอบสนองความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกภาคส่วน พร้อมสร้างเครือข่ายการพัฒนาธุรกิจการแพทย์อย่างยั่งยืนทั้งห่วงโซ่อุปทาน ภายในปี 2030

 

“เป็นความท้าทายที่ทั้งผู้บริหาร และทีมงานในองค์กร หารือร่วมกันว่าเราพร้อมจะก้าวต่อไปแล้วหรือยัง คำตอบก็คือว่า “ต้องไป ไม่ไปไม่ได้” เมื่อพิจารณาแล้วว่าในประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคยังไม่มีบริษัทใดเลยที่เป็นต้นแบบของความยั่งยืนในกลุ่มธุรกิจ Healthcare จึงเป็นความท้าทายอันดับหนึ่งของ BDMS แต่ท้ายที่สุดเมื่อตัดสินใจที่จะทำแล้ว เราจึงขับเคลื่อนให้ทั้งองค์กรเห็นเป้าหมายร่วมกัน ผ่านการสื่อสารในทุกระดับ เพราะการทำความเข้าใจภายในองค์กรเป็นเรื่องที่สำคัญ เราตั้งใจจะไม่ทำ Top down หรือเป็นคำสั่งลงมา แต่ต้องทำไปพร้อมกัน เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการในหลายมิติ ซึ่งเราได้ลงมือทำมาตลอดสามปีที่ผ่านมา โดยรวบรวมข้อมูลภายในองค์กรทั้ง 3 เรื่อง ได้แก่ สิ่งแวดล้อม สังคม และหลักธรรมาภิบาล และพบว่ามีบางส่วนที่เราดำเนินการอยู่แล้ว จากโรงพยาบาลทั้งหมด 50 กว่าแห่งทั่วประเทศ” แพทย์หญิงปรมาภรณ์ กล่าว

 

นอกจากนี้ แพทย์หญิงปรมาภรณ์ ยังสะท้อนเจตนารมย์ของ BDMS ที่มุ่งมั่นผลักดันให้อุตสาหกรรม Health Care ของไทยสามารถดำเนินแนวทางความยั่งยืนตามมาตรฐานโลก พร้อมเชิญชวนให้กลุ่มธุรกิจนี้ ซึ่งล้วนมีพื้นฐานด้านความยั่งยืนกันอยู่แล้ว ร่วมพัฒนาต่อยอดไปด้วยกัน

 

อาจจะฟังดูยาก เหมือนกับที่เราเคยคิดมาก่อน แต่เราก็ยินดีให้คำแนะนำ เราเชื่อว่าเมื่อมาทำด้วยกัน มันจะเกิด Impact ที่ดี (กับอุตสาหกรรม Health Care)” แพทย์หญิงปรมาภรณ์ กล่าวต่อว่า “สำหรับเป้าหมายการบริหารงานในปี 2567 ของ BDMS เราพยายามหาเรื่องใหม่ ๆ ที่ท้าทายมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องที่ตรงกับธุรกิจสุขภาพที่ยังไม่มีใครเคยทำ นำมาพิจารณาเพิ่มมากขึ้น เรายืนยันว่า BDMS จะไม่ทำธุรกิจอื่นที่ไม่ใช่สายสุขภาพ” แพทย์หญิงปรมาภรณ์ กล่าว

 

การสร้างเครือข่ายพัฒนาต่อยอดธุรกิจการแพทย์อย่างยั่งยืนภายใต้รูปแบบ Partnership นั้น BDMS ได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว เช่น การร่วมมือกับ SCG ผลิตกระถางต้นไม้รีไซเคิลที่ทำมาจากถังน้ำยาล้างไต เพื่อสร้างพื้นที่สีเขียวภายในอาคารของโรงพยาบาลในเครือ ฯ ตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เป็นต้น

 

ปีนี้ BDMS จะมีการเชื้อเชิญพันธมิตรเพื่อพัฒนานวัตกรรม โดยจะเปิดโอกาสให้พันธมิตรทางธุรกิจได้เข้ามา Pitching Project ของ BDMS ด้วย ที่ผ่านมาเราดำเนินธุรกิจโรงพยาบาลมานานกว่า 50 ปี มีโรงพยาบาลในเครือกว่า 50 แห่ง ณ ตอนนี้เราไม่ได้มองว่า BDMS เป็นเพียง Hospital Network อย่างเดียว แต่เราเป็น Health Care Network และมุ่งสนับสนุนสุขภาพเชิงป้องกันให้มากขึ้น” แพทย์หญิงปรมาภรณ์ กล่าว

 

และอีกหนึ่งพันธกิจสำคัญของ BDMS คือ การสร้างเสถียรภาพทางเวชภัณฑ์ยา ที่ไม่จำเพาะแค่การผลิตยารักษาโรคเท่านั้น แต่รวมไปถึงวิตามิน และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารด้วย ปัจจุบัน BDMS สามารถผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เหล่านี้ให้แก่ธุรกิจนอกเครือ ฯ ได้มากกว่า 50% ของกำลังการผลิตทั้งหมด 

 

“เรื่องของการเป็น Green Supply Chain คือ การสร้างอุปสงค์และอุปทานในประเทศ ที่ผ่านมาสิ่งที่เราเคยเจอในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เราหาของในประเทศไทยไม่ได้ ต้องที่นำเข้าผลิตภัณฑ์ยา หากเกิดวิกฤตใด ๆ ในประเทศ หรือทั่วโลกอีก ที่ส่งผลให้ไม่สามารถส่งยามาจากต่างประเทศ เราก็ควรจะมียาที่ผลิตในประเทศไทยได้ สิ่งนี้เป็นส่วนหนึ่งที่เราให้ความสำคัญ หรือเรียกว่าเป็น Health Care Security แต่ถ้ามองในแง่ของ Supply Chain ที่ต้องนำเข้าของมาจากที่ไกล ๆ เราต้องมีการขนส่ง (Logistics) นี่ก็เป็นสาเหตุหนึ่งในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หากเราสามารถผลิตยาในประเทศเองได้ ในแง่ของเศรษฐกิจจะสามารถสนับสนุนความยั่งยืนขององค์กรได้เช่นกัน” แพทย์หญิงปรมาภรณ์ กล่าวทิ้งท้าย

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ