คปภ. เร่งยกระดับแนวทางป้องกันการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล สำหรับธุรกิจประกันภัย
เล็งเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ในหลักสูตรการอบรม/การทดสอบความรู้สำหรับการขอรับและขอต่อใบอนุญาตตัวแทน/นายหน้าประกันภัย รวมถึงการดำเนินการตรวจสอบตามความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจประกันภัย
นายอดิศร พิพัฒน์วรพงศ์ รองเลขาธิการ ด้านกฎหมาย คดีและคุ้มครองสิทธิประโยชน์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (รองเลขาธิการ ด้านกฎหมายฯ) เปิดเผยถึงการดำเนินการและแนวทางป้องกันการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล สำหรับธุรกิจประกันภัยว่า จากกรณีเมื่อช่วงปลายปี 2566 มีเฟซบุ๊คแฟนเพจ และสื่อโซเชียลอื่น ๆ ลงข้อความว่า “โบรกเกอร์ของบริษัทประกันภัยชื่อดัง ลักลอบนำข้อมูลส่วนบุคคลนับล้านรายชื่อขายให้มิจฉาชีพ” และต่อมากองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 5 ได้สืบสวนขยายผลจากการจับกุมผู้กระทำความผิด ซึ่งเป็นอดีตตัวแทนประกันชีวิต ได้กระทำการใช้หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของผู้เอาประกันภัย และนำข้อมูลส่วนบุคคลดังกล่าวไปขายให้บุคคลภายนอกเพื่อประโยชน์ส่วนตน โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยแต่อย่างใดนั้น
สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า ตัวแทนประกันชีวิตรายดังกล่าวได้กระทำผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 อันเป็นฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อ 37 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการออก และเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยของบริษัทประกันชีวิตและการดำเนินการของตัวแทนประกันชีวิต นายหน้าประกันชีวิต และธนาคาร พ.ศ. 2563 ที่ออกตามความในมาตรา 79/1 ในประการที่ก่อหรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยหรือประชาชน อันเป็นพฤติการณ์ที่นายทะเบียนมีอำนาจสั่งเพิกถอนใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันชีวิตได้ตามมาตรา 81/1 (2) และ (6) แห่งพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม นายทะเบียนจึงได้มีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันชีวิตของผู้ที่กระทำความผิดดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว
นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. ได้มีการบูรณาการการทำงานร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ เช่น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) สมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมประกันวินาศภัยไทย สมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงิน และสมาคมนายหน้าประกันภัยไทย เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางการยกระดับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของภาคธุรกิจประกันภัยอย่างต่อเนื่อง โดยได้ข้อสรุป ดังนี้
(1) ขอให้สมาคมแจ้งสมาชิกให้ยกระดับการตรวจสอบและกำกับดูแลพฤติกรรมบุคคลในสังกัดให้ปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และไม่นำข้อมูลของผู้เอาประกันภัยไปใช้ในทางมิชอบด้วยกฎหมาย
(2) สำนักงาน คปภ. เห็นควรเพิ่มความเข้มข้นในการกำกับดูแลในส่วนของการคัดกรองผู้ขอรับหรือต่ออายุใบอนุญาต โดยการเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ในหลักสูตรการอบรม/การทดสอบความรู้สำหรับการขอรับและขอต่อใบอนุญาตตัวแทน/นายหน้าประกันภัย รวมถึงการดำเนินการตรวจสอบตามความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจประกันภัย
(3) สำนักงาน คปภ. จะยกระดับการตรวจสอบการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล โดยเริ่มกระบวนการตรวจสอบจากแบบประเมินตนเอง (Comprehensive Questionnaire) และผลจากแบบประเมินจะนำมาประเมินความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้เอาประกันภัย และกำหนดมาตรการในการกำกับดูแลบริษัทประกันภัยต่อไป
(4) สคส. จะพิจารณาและรับรองแนวปฏิบัติ (Guideline) สำหรับธุรกิจประกันภัยที่สำนักงาน คปภ. และสมาคมภาคธุรกิจได้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นมาตรฐานสำหรับธุรกิจประกันภัยในการดำเนินการเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลอย่างเหมาะสม
ทั้งนี้ รองเลขาธิการ ด้านกฎหมายฯ กล่าวว่า การยกระดับแนวทางป้องกันการละเมิดกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สำหรับธุรกิจประกันภัยดังกล่าว จะทำให้การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในระบบประกันภัยมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อระบบประกันภัย และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของอุตสาหกรรมประกันภัยโดยรวมต่อไป