การเคหะแห่งชาติพร้อมรับมือภาวะ“โลกเดือด”เร่งพัฒนาที่อยู่อาศัยเป็นมิตรสิ่งแวดล้อมตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 28

   เมื่อ : 27 ธ.ค. 2566

เรืออากาศโท ชัยรัตน์ ทองบริบูรณ์ รองผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ เปิดเผยว่า การเคหะแห่งชาติเล็งเห็นถึงความสำคัญในมิติด้านสิ่งแวดล้อมกับการพัฒนาที่อยู่อาศัย ชุมชน และเมืองตามนโยบายของนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ที่ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่าย เพื่อประสานความร่วมมือ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์เพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัยที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดดล้อมที่สอดคล้องกับการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 28 (UNFCCC COP 28) ณ เมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

โครงการใหม่ที่การเคหะแห่งชาติจะพัฒนาทุกโครงการ ทั้งโครงการบ้านเอื้ออาทร และโครงการเคหะสุขประชา จะออกแบบก่อสร้างโดยใช้วัสดุจากธรรมชาติ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และรองรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยมีโอกาสเข้าถึงที่อยู่อาศัยที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (Global Environment Facility)หรือ กองทุน GEF (เจฟ) ที่อนุมัติเงินทุนสนับสนุนโครงการส่งเสริมที่อยู่อาศัยประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยสำหรับผู้มีรายได้น้อย จำนวน 98 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างรอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาโดยมีเป้าหมายพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับผู้อยู่อาศัยให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น และตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 11 เมืองและถิ่นฐานมนุษย์อย่างยั่งยืน

ด้านดร.กฤติมา ลี่รัตนวิสุทธิ์ ปรึกษาด้านกลยุทธ์ท้องถิ่น โครงการเมืองแห่งอนาคตระดับโลก องค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UN Habitat) กล่าวว่า ปัญหาภาวะ“โลกร้อน” หรือ “โลกเดือด”ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาที่อยู่อาศัย ดังนั้นการออกแบบก่อสร้างโครงการควรจะออกแบบให้อยู่ร่วมกับน้ำได้ เพราะที่ผ่านมา อาจจะมีการสร้างเขื่อนสร้างกำแพงกันน้ำ ซึ่งไม่สามารถกันน้ำได้อย่างจริงจัง จึงควรออกแบบให้อยู่ร่วมกับน้ำได้ เช่น ในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมควรจะสร้างบ้านยกสูง เพื่อให้น้ำไหลผ่าน ขณะที่บางพื้นที่อาจจะทำเป็นร่องน้ำ เพื่อให้น้ำอยู่ได้ ไม่ไหลเข้าบ้านเรือน ทำให้ประชาชนสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติ

         

“การออกแบบบ้านในอนาคต วิศวกร และสถาปนิกควรจะออกแบบร่วมกัน ซึ่งบ้านหรือภายในบ้านควรจะใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น หลังคาบ้านอาจจะไม่ใช่แค่กันแดดกันฝน และยังสามารถปลูกต้นไม้บนหลังคา หรือผนังอาคารอาจจะปลูกไม้เลื้อยเพื่อสร้างความร่มเย็นและลดโลกร้อนได้ด้วย ”ดร.กฤติมา กล่าว