SME D Bank ขับเคลื่อนนโยบาย ก.อุต หนุนเอสเอ็มอียกระดับสู่ธุรกิจสีเขียวเติบโตยั่งยืน เดินหน้ากองทุนประชารัฐ ‘สินเชื่อลดโลกร้อน’ วงเงิน 1500 ลบ. ดอกเบี้ยต่ำ 3% ต่อปี
SME D Bank ขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล โดยกระทรวงอุตสาหกรรม รับหน้าที่หน่วยร่วมดำเนินโครงการสินเชื่อลดโลกร้อน (Decarbonize Loan) ภายใต้กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ วงเงิน 1500 ล้านบาท สนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ 3% ต่อปี วงเงินกู้สูงสุด 20 ล้านบาท นำไปยกระดับปรับเปลี่ยนธุรกิจสีเขียวเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมพาเติบโตอย่างยั่งยืน
ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และประธานกรรมการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank กล่าวว่า รัฐบาล โดยกระทรวงอุตสาหกรรมให้ความสำคัญสูงสุดต่อการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน ด้วยการกำหนดเป็นนโยบายหลัก “อุตสาหกรรมเศรษฐกิจ” ที่ “เติบโตอย่างยั่งยืนคู่ชุมชน” ใน 4 มิติพร้อมกัน ได้แก่ 1.ความสำเร็จทางธุรกิจ เปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมเศรษฐกิจ 2.ความอยู่ดีกับสังคมโดยรวม ส่งเสริมทำงานร่วมกันระหว่างสถานประกอบการ ชุมชน และสังคม 3. ความลงตัวกับกติกาสากล ดูแลสิ่งแวดล้อมสู่อุตสาหกรรมสีเขียว เพื่อโอกาสทางธุรกิจ และ 4.การกระจายรายได้สู่ชุมชนที่ตั้ง ดังนั้น เพื่อขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว จึงมอบหมายให้ SME D Bank เป็นหน่วยร่วมดำเนินโครงการสินเชื่อลดโลกร้อน (Decarbonize Loan) ภายใต้กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ วงเงินรวม 1500 ล้านบาท สนับสนุนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ นำไปยกระดับปรับเปลี่ยนธุรกิจสีเขียวเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเติบโตอย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุง หรือลงทุนในกิจการ ปรับเปลี่ยนเครื่องจักร หรือเสริมสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจตามแนวทาง BCG Model (B:Bio Economy เศรษฐกิจชีวภาพ C:Circular Economy เศรษฐกิจหมุนเวียน และ G : Green Economy เศรษฐกิจสีเขียว) ซึ่งจะช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมและลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ รวมถึง สร้างประโยชน์แก่สังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อม และโลกให้ดีขึ้น
จุดเด่นของโครงการสินเชื่อดังกล่าว อัตราดอกเบี้ยต่ำพิเศษเพียง 3% ต่อปี ใน 3 ปีแรก ปีถัดไป MLR ต่อปี (MLR = 7.50%) วงเงินกู้ขั้นต่ำ 1 ล้านบาท ถึงสูงสุดไม่เกิน 20 ล้านบาท ผ่อนนานสูงสุด 7 ปี หลักประกันตามเกณฑ์ที่กองทุนกำหนด คุณสมบัติเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีนิติบุคคล ที่ดำเนินธุรกิจมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี ดำเนินกิจการเป็นผู้ผลิต ให้บริการ ค้าปลีกค้าส่ง หรือผู้ประกอบธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรม BCG กลุ่มอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล หรือธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง (Supply Chain) และกลุ่มอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่ต้องการปรับปรุงการดำเนินงานในการดูแลสิ่งแวดล้อม ผ่านการลงทุนด้านเครื่องจักรกล ด้านสิ่งปลูกสร้าง ด้านกระบวนการผลิต อาทิ การปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ไฟฟ้าประหยัดพลังงาน หรือการปรับมาใช้พลังงานสะอาดทดแทน เป็นต้น
ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่สนใจขอรับการสนับสนุนสินเชื่อ สามารถลงทะเบียนข้อมูลสถานประกอบการได้ที่ http://i.industry.go.th/ และยื่นขอสินเชื่อได้ที่ www.thaismefund.com หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวทางประชารัฐ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด และสาขา SME D Bank ทั่วประเทศ