“จี้ออ” ปั้นร้านของฝาก มัดใจนักท่องเที่ยว ด้วยไอเดียเก๋ ‘เก็บกระบี่กลับบ้าน’ SME D Bank ต่อยอดยกระดับสินค้า เพิ่มช่องทางตลาด ปูทางโกอินเตอร์

   เมื่อ : 28 ก.ย. 2566

ร้านขายของฝาก เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่น่าสนใจ เพราะรวบรวมของดีของเด็ดในจังหวัดนั้น ๆ หรือจังหวัดใกล้เคียง มาไว้ในที่เดียว พร้อมให้บริการนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ เลือกซื้อสินค้าที่มีคุณภาพ นำไปบริโภคหรือเป็นของฝากให้คนที่รัก นอกจากนี้ ยังเป็นช่องทางที่สำคัญ ช่วยสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับชุมชน นำสินค้ามาวางจำหน่าย ช่วยให้คุณภาพชีวิตของเขาดีขึ้น

 

คุณ “ฐณผการจ เตี่ยวประดิษฐ์” กรรมการบริหาร ภรรยาของคุณ “อดิศร เตี่ยวประดิษฐ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท จี้ออ ฟู้ด จำกัด เล่าถึงจุดเริ่มต้นของธุรกิจ ว่า เมื่อปี 2547 “จี้ออ” เป็นร้านเล็ก ๆ ขนาด 1 คูหา ถือกำเนิดขึ้น จ.กระบี่ โดยการนำของคุณแม่ “จริยา เตี่ยวประดิษฐ์” หรือ “จี้ออ” บุตรสาวของ “คุณแม่จู้” เจ้าตำรับน้ำพริกกุ้งเสียบจากภูเก็ต ที่ย้ายมาลงหลักปักฐานในเมืองกระบี่ ด้วยฝีมือการทำอาหาร เริ่มจากขายน้ำพริก สามารถสร้างธุรกิจร้านขายของฝาก ขยับขยายสร้างร้านขนาด 3 คูหา แต่ช่วงแรกยังเป็นร้านรูปแบบดั้งเดิม ลักษณะคล้ายกับโกดังขายสินค้า

หลังจากเปิดให้บริการมาต่อเนื่องในปี 2558 คุณอดิศร เกิดความคิดที่จะพลิกโฉมร้าน แต่ยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ หรืออยู่ดี ๆ จะทำได้ทันที จึงมีการวางแผน คิดวิเคราะห์ วิจัยตลาด และใช้ทีมงานมืออาชีพเข้ามาช่วย ที่สำคัญไม่ใช่แค่เปลี่ยนโฉมร้านให้สวย แต่เป็นการยกระดับการบริหารจัดการสู่มืออาชีพ ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง โดยทุ่มงบประมาณถึง 20 ล้านบาท ภายใต้คอนเซ็ปต์ “เก็บกระบี่กลับบ้าน”  

 

“การพลิกโฉมร้าน เราจริงจัง เพื่อสร้างโอกาสให้กับธุรกิจ และตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค เราเริ่มทำงานบนพื้นฐานของข้อมูล ทำโฟกัสกรุ๊ปเพื่อหาว่าคนที่มากระบี่อยากได้อะไร คนพื้นที่อยากได้อะไร หลังจากนั้นก็เริ่มรีโนเวท ทั้งเปลี่ยนสี เปลี่ยนโลโก้ เปลี่ยนแพ็กเกจจิ้ง เรียกว่าจับเปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่หมด แล้วกลับมาใหม่ ภายใต้คอนเซ็ปต์ เก็บกระบี่กลับบ้าน” ฐณผการจ กล่าว  

การสร้างจี้ออโฉมใหม่ ไม่ได้มองตัวเองเป็นร้านของฝากอีกต่อไป แต่คือ ‘ห้องรับแขกและห้องส่งแขกของ จ.กระบี่’ เพื่อให้คนที่มาที่นี่เขามีความสุข กลับไปด้วยรอยยิ้ม สิ่งที่ต้องการให้ลูกค้าได้สัมผัส คือ ประสบการณ์ที่ดี โดยไม่ได้คิดว่า เขาจะต้องมาซื้ออะไร แต่ได้มาสัมผัสความเป็นอัตลักษณ์ของ จ.กระบี่ แล้วเก็บกระบี่กลับไป ผ่านการสื่อสารออกมาในรูปของแพ็กเกจจิ้ง การจัดร้าน การใช้สี บรรยากาศภายในร้าน และอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ที่เหมือนยังอยู่ทะเล สามารถใส่กางเกงขาสั้น ชุดเดินชายหาด มาเดินเล่นในร้านของเราได้อย่างสบายใจ รวมทั้ง ยกเครื่องระบบหลังบ้าน ระบบการบริการ ตลอดจนยกระดับโรงงานให้ได้มาตรฐาน เรียกว่าปรับใหม่ในทุกมิติ

บททดสอบครั้งสำคัญ การเปลี่ยนแปลงที่เราตั้งใจไว้ จะนำสิ่งที่ดีกว่ามาสู่ธุรกิจ แต่หลังเปิดร้านใหม่ได้ไม่นาน ก็ต้องเจอกับโควิด-19 จนต้องปิดร้านไปถึง 2 เดือน สิ่งที่ทำให้พวกเขารอดและไปต่อได้ ก็คือพลังของทีมงาน ตัดสินใจเรียกพนักงานประชุมร่วมกัน พร้อมคำมั่นสัญญา “เราจะอยู่รอดด้วยการรัดเข็มขัด ไม่เอาใครออกเลย” คือ ทุกคนต้องอยู่กับจี้ออต่อไป

 

ปรับตัวเพื่อเปลี่ยนแปลง การที่ทำให้ทุกคนอยู่ได้ เราต้องเปลี่ยนของในร้านให้เป็นเงิน เช่น นำสินค้าที่ผลิตมาลดราคาให้พนักงานเอาไปขาย มีอุปกรณ์ให้ทุกคนไลฟ์สด ขายออนไลน์ กลายเป็นว่าพนักงานของเราขายเก่งหมด และทำอะไรได้หลากหลาย ขณะที่ช่องทางออนไลน์ ช่วยให้เราสร้างรายได้เพิ่มขึ้น เมื่อธุรกิจอยู่ได้ พนักงานยังท้องอิ่มและมีความสุข เรียกว่าพลิกวิกฤติเป็นโอกาส อย่างแท้จริง

พายุลูกใหญ่ที่พัดผ่าน ด้วยธุรกิจฟื้นจากโควิด-19 ทำให้เป้าหมายธุรกิจต่างไปจากเดิม เราให้ความสำคัญกับการบริหารภายใน คือ การทำองค์กรที่มีความสุข พร้อมวางเป้าหมายให้กิจการยั่งยืนสู่อนาคต ด้วยการทำ BCG Model โดย จี้ออ ทำเรื่องของขยะทะเล ตั้งบริษัทลูกชื่อ บริษัทโอไซโค ซึ่งมาจากคำว่า (Ocean Recycle Corporation) มุ่งเน้นนำขยะทะเลมาทำเป็นโปรดักต์ เช่น นำขวดพลาสติกมาทำเสื้อยืด นำอวน แห ขยะจากการประมงมาทำเป็นของที่ระลึก เพื่อให้ลูกค้าที่มาจี้ออ ได้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเก็บขยะกลับไปได้ แต่เก็บไปในรูปแบบของสินค้าแทน

 

เพื่อนธุรกิจของจี้ออ คือ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank ที่ให้การสนับสนุน ทั้งด้านเงินทุนและองค์ความรู้ โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อม สำหรับการส่งออกช่วยให้เราเห็นช่องทางการจำหน่าย ยกระดับสินค้า จนสามารถกระจายผลิตภัณฑ์คุณภาพสู่โมเดิร์นเทรดชั้นนำได้ในวันนี้ ควบคู่การพัฒนา ที่มีโอกาสเข้าร่วมโครงการอบรมสัมมนาเรื่องการส่งออกของ SME D Bank ซึ่งธนาคารมีการสนับสนุนผู้ประกอบการจนถึงการส่งออกด้วย

แม้ตัวเราจะยังไม่พร้อมที่จะไปถึงจุดนั้น แต่ก็ทำให้เห็นโอกาสว่า สินค้าของเราสามารถไปสู่ตลาดที่กว้างขึ้นได้ ภายหลังการอบรม จึงเกิดไอเดียที่จะขยายสินค้าไปยังช่องทางอื่น ๆ และเวลาต่อมาสามารถวางขายในห้างโมเดิร์นเทรด รวมถึงห้างท้องถิ่นต่างๆ ได้สำเร็จ นอกจากนี้ยังนำสินค้าไปลงในเว็บไซต์ของหน่วยงานราชการตามคำแนะนำอีกด้วย ซึ่งเราไม่เคยทำมาก่อน ก็เป็นโอกาสใหม่ ๆ ที่เราได้รับจากการเข้าอบรมครั้งนี้ เรื่องราวของจี้ออ ธุรกิจที่ไม่ยึดติดกับอดีต แต่กล้าลุกมาปรับเปลี่ยนตัวเอง และเลือกทางเดินสู่อนาคตด้วยแนวคิด BCG โดยเชื่อว่านี่จะเป็นทางรอดของธุรกิจ ในยุคที่โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเช่นวันนี้ได้