ป.ป.ช. รับเดินหน้าสานต่อคดี “กำนันนก”สาวถึงการฮั้วประมูลก่อสร้างภาครัฐ

   เมื่อ : 22 ก.ย. 2566

ป.ป.ช. จับมือทุกภาคส่วน เดินหน้าสานต่อคดี “กำนันนก” ประวีณ จันทร์คล้าย สาวโยงไปถึงผลประโยชน์มหาศาล จากการฮั้วประมูลโครงการก่อสร้างของรัฐ จาก 2 บริษัทก่อสร้างใหญ่ ที่ผู้ต้องหาถือหุ้น หวังเป็น นครปฐมโมเดล ต้นแบบสร้างความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างในทุกจังหวัด

 

สืบเนื่องจากกรณีเมื่อคืนวันที่ 6 กันยายน 2566 ที่ผ่านมาที่ นายประวีณ จันทร์คล้าย หรือที่รู้จักกันในชื่อ “กำนันนก” อายุ 35 ปี กำนันตำบลตาก้อง อ.เมืองนครปฐม จ.นครปฐม ถูกออกหมายจับตามความผิดฐาน “เป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และพยายามฆ่าผู้อื่น” หลังจาก “หน่อง ท่าผา” หรือ นายธนัญชัย หมั่นมาก อายุ 45 ปี ลูกน้องคนสนิท ใช้อาวุธปืนยิง พ.ต.ต.ศิวกร สายบัว สารวัตรสถานีตำรวจทางหลวง 1 กองกำกับการ 2 กองบังคับการตำรวจทางหลวง (สว.ส.ทล.1 กก.2 บก.ทล.) จนเสียชีวิต และ พ.ต.ท.วศิน พันปี รองผู้กำกับการ 2 กองบังคับการตำรวจทางหลวง ได้รับบาดเจ็บอีก 1 คน ระหว่างงานเลี้ยงภายในบ้านพัก จนนำมาสู่การตรวจสอบธุรกิจของ “กำนันนก”                                      

 

ล่าสุด นายศรชัย ชูวิเชียร ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เปิดเผยว่า จากการที่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้ตรวจสอบข้อมูล 2 บริษัท ที่มี นายประวีณ จันทร์คล้าย หรือ “กำนันนก” ร่วมถือหุ้น 2 บริษัท คือ บริษัท ป.รวีกนก ก่อสร้าง จำกัด และ บริษัท ป.พัฒนารุ่งโรจน์ก่อสร้าง จำกัด เวลานี้พบเบาะแสเข้าข่ายฮั้วประมูลโครงการก่อสร้างถนน เร่งรวบรวมหลักฐาน ซึ่งตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมา ได้ทำโครงการของรัฐรวมแล้ว 1311 โครงการ รวมงบประมาณกว่า 6000 ล้านบาท

 

จากข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิด 2 ธุรกิจของ “กำนันนก” พบว่ากิจการรับเหมา ปี 65 รายได้รวม 746 ล้านบาท กำไรสุทธิ 5.2 ล้านบาท กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้เปิดเผยถึงการตรวจสอบโครงการก่อสร้างถนนในพื้นที่ จ.นครปฐม ของบริษัท ป.พัฒนารุ่งโรงก่อสร้าง และบริษัท ป.รวีกนกก่อสร้างเป็นโครงการรับเหมาก่อสร้าง ที่มีมูลค่าเกิน 30 ล้านบาท และอยู่ในอำนาจการสอบสวนของคณะกรรมการคดีพิเศษ ซึ่งที่ผ่านมา DSI มีฐานข้อมูลเกี่ยวกับการฮั้วประมูลในพื้นที่ภาคอีสานมาก่อนแล้ว พบว่ามีกลุ่มคนประมาณ 4-5 กลุ่มที่รับหน้าที่จัดฮั้ว ในทุกครั้งที่มี การประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (E-bidding) โดยคนกลุ่มนี้ใช้วิธีการที่เรียกว่า จัดฮั้วคู่ขนานในลักษณะคล้ายการจัดงานให้กัน โดยมีการเคลียร์ทางเพื่อให้เหลือคู่เทียบให้น้อยที่สุด เนื่องจากการประมูลด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ E-bidding จะไม่มีใครทราบราคา ทาง DSI จึงได้เรียกสอบปากคำ 65 บริษัทผู้ซื้อซองประกวด                                           

 

นายศรชัย ผู้ช่วยเลขาธิการฯ ป.ป.ช. เปิดเผยต่อด้วยว่า จากการตรวจสอบ ของ ป.ป.ช. พบพยานหลักฐานชัดเจนว่า มีโครงการที่ 2 บริษัทดังกล่าวฮั้วประมูลจริง ซึ่งจากการตรวจสอบยังพบผู้เกี่ยวข้องอีกหลายภาคส่วน วันนี้จะรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมด โดยจะประสานงานกับทุกภาคส่วน และ DSI เพื่อดำเนินการทางกฎหมายกับผู้มีส่วนกระทำความผิดทุกราย และหวังว่าการดำเนินการในครั้งนี้ จะเป็นโมเดลที่ขยายผลไปสู่จังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศต่อไป

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ