ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.32 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.30 บาทต่อดอลลาร์
แม้ว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะปิดทำการเนื่องจากวันหยุด Juneteenth แต่ผู้เล่นในตลาดการเงินก็ทยอยกลับมาเปิดรับความเสี่ยง หนุนให้สินทรัพย์เสี่ยง อย่าง หุ้น สามารถรีบาวด์กลับขึ้นมาได้ หลังจากหุ้นส่วนใหญ่ต่างเผชิญแรงเทขายรุนแรงในสัปดาห์ที่ผ่านมา จากความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวหนัก หากบรรดาธนาคารกลางต่างเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยเพื่อควบคุมปัญหาเงินเฟ้อ โดยในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรป รีบาวด์ขึ้นมาราว +0.96% นำโดยการรีบาวด์ขึ้นของหุ้นกลุ่มการเงิน กลุ่มพลังงาน และหุ้นเทคฯ อาทิ HSBC +5.7%, BP +3.2%, ASML +1.8%
ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์ การเคลื่อนไหวโดยรวมยังเป็นไปอย่างจำกัดเนื่องจากตลาดการเงินฝั่งสหรัฐฯ ปิดทำการ ทั้งนี้ เรามองว่า ผู้เล่นบางส่วนอาจเริ่มทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวมากขึ้น หลังจากที่บอนด์ยีลด์ระยะยาวได้ปรับตัวสูงขึ้นมาก และหากมีมุมมองว่า การขึ้นดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลางอาจนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวหรือภาวะเศรษฐกิจถดถอยในกรณีเลวร้ายสุด บอนด์ยีลด์ระยะยาวก็จะสามารถทยอยปรับตัวลดลงได้ อย่างไรก็ดี เรามองว่า บอนด์ยีลด์ระยะยาวจะยังมีความผันผวนอยู่ จากความไม่แน่นอนของแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดว่าจะขึ้นไปได้สูงสุดเท่าใด (Terminal Rate สุดท้ายจะอยู่ตรงไหน)
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) แกว่งตัวใกล้ระดับ 104.4 จุด ตามภาวะการทยอยเปิดรับความเสี่ยงของผู้เล่นในตลาด รวมถึงการกลับมาแข็งค่าขึ้นของสกุลเงินฝั่งยุโรป อาทิ เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ที่แข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 1.225 ดอลลาร์ต่อปอนด์ ส่วนเงินยูโร (EUR) ก็ทยอยกลับมาแข็งค่าขึ้นแตะระดับ 1.053 ดอลลาร์ต่อยูโร อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าต่อเนื่องของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) จากภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาด รวมถึงแนวโน้มนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่นที่ยังคงผ่อนคลายสวนทางกับการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ทั้งนี้ แม้เงินดอลลาร์จะย่อตัวลงบ้าง แต่ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดยังคงกดดันให้ราคาทองคำแกว่งตัวใกล้ระดับ 1,841 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเราคาดว่า ราคาทองคำอาจมีแนวโน้มแกว่งตัว sideways จนกว่าตลาดจะมีความมั่นใจในแนวโน้มการปรับดอกเบี้ยนโยบายของเฟดก่อน
สำหรับวันนี้ ตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลัก โดยในฝั่งของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด นั้น ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของ Loretta Mester (FOMC Voter) เพื่อประเมินมุมมองของเจ้าหน้าที่เฟดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและทิศทางการปรับดอกเบี้ยนโยบาย หลังจากล่าสุดหนึ่งในคณะกรรมการ FOMC ที่มีสิทธิ์โหวต Christopher Waller ได้ออกมาสนับสนุนการเร่งขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.75% ในการประชุมเดือนกรกฎาคม เพื่อควบคุมปัญหาเงินเฟ้อ นอกเหนือจากถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพื่อประเมินแนวโน้มการปรับดอกเบี้ยนโยบายของ ECB หลังช่วงที่ผ่านมา บรรดาเจ้าหน้าที่ ECB ได้ส่งสัญญาณสนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ย เนื่องจากระดับเงินเฟ้อของยุโรปนั้นอยู่ในระดับสูงเกินกว่าเป้าหมายไปมาก
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า แม้เงินบาทจะพอได้แรงหนุนในฝั่งแข็งค่า จากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์รวมถึงภาพตลาดการเงินที่ทยอยกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น แต่โดยรวมเงินบาทยังคงมีแนวโน้มผันผวน โดยแรงกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่านั้น อาจมาจากแรงขายสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะหุ้นจากนักลงทุนต่างชาติ อย่างไรก็ดี ในฟันด์โฟลว์ในฝั่งบอนด์เริ่มชะลอการขายลงบ้างแล้ว หลังผู้เล่นบางส่วนเริ่มมองว่า บอนด์ยีลด์ที่ขึ้นสูงไปก่อนหน้านั้น ได้สะท้อนภาพการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทยมากเกินไป อย่างไรก็ดี ความผันผวนของฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติจะมีส่วนทำให้เงินบาทยังมีโอกาสผันผวนในฝั่งอ่อนค่าต่อได้ในช่วงนี้
อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าของเงินบาทอาจมีแนวต้านอยู่ในโซน 35.ภ0-35.50 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่ผู้ส่งออกบางส่วนรอทยอยขายเงินดอลลาร์อยู่ ทั้งนี้ เราคงมองว่า เงินบาทจะยังไม่อ่อนค่าทะลุระดับดังกล่าวไปไกลมาก ยกเว้นจะเกิดภาพเทขายสินทรัพย์ฝั่ง EM Asia ที่อาจเกิดขึ้นได้ หากจีนตัดสินใจ Lockdown วงกว้างอีกครั้ง
อนึ่ง ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง เราคงแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ ใช้ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.20-35.40 บาท/ดอลลาร์