รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเวทีประชุม CEO Insurance Forum 2023

   เมื่อ : 21 ก.ค. 2566

สำนักงาน คปภ. ผนึกกำลังภาคธุรกิจประกันภัย ร่วมระดมสมองกำหนดทิศทางอุตสาหกรรมประกันภัยไทยเพิ่มบทบาทเชิงรุกด้านความยั่งยืนเพื่อให้ประกันภัยไทยเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน

 

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) ได้รับเกียรติจากนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานกล่าวปาฐกถาพิเศษและเปิดการประชุมผู้บริหารระดับสูงด้านการประกันภัย ประจำปี 2566 (CEO Insurance Forum 2023) ภายใต้แนวคิด “Navigating Resiliency and Sustainability : Challenges and Opportunities for Thai Insurance Industry” ซึ่งเป็นการจัดประชุมในรูปแบบผสมผสาน (หรือ Hybrid Conference) เพื่อเป็นเวทีสื่อสารทิศทางและนโยบายในการพัฒนาธุรกิจประกันภัยไทย รวมทั้ง แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ข้อเสนอแนะ ตลอดจนข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ร่วมกันระหว่างสำนักงาน คปภ. ภาคธุรกิจประกันภัย และผู้เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมประกันภัยไทย ณ ห้องประชุม CRYSTAL ชั้น 3 โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก

ในโอกาสนี้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “บทบาทของธุรกิจประกันภัยต่อการส่งเสริมให้เศรษฐกิจและสังคมเติบโตอย่างยั่งยืน” โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า ปีนี้อัตราการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นผลมาจากนโยบายการเปิดประเทศ การท่องเที่ยวที่มีการขยายตัวสูงขึ้น นักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและต่างประเทศมีความเชื่อมั่นประเทศไทยเพิ่มขึ้น ระบบประกันภัยถือเป็นแหล่งระดมเงินออมของประชาชนที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยเสริมสร้างหลักประกันให้กับชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งสำนักงาน คปภ. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมองไปในอนาคตและร่วมกันขับเคลื่อนให้ภาคการเงินและการคลังมีความเข้มแข็งมากขึ้นต่อไปในระยะยาว ควรมีเวทีในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างหน่วยงานกำกับและภาคอุตสาหกรรมประกันภัยลักษณะเช่นนี้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการศึกษาเรียนรู้แนวทางกำกับดูแลในต่างประเทศเพื่อนำมาปรับใช้ในการกำกับดูแล สิ่งสำคัญที่สำนักงาน คปภ. และภาคอุตสาหกรรมประกันภัยจะต้องร่วมกันขับเคลื่อน คือ ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อระบบประกันภัย ซึ่งเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งโดยจะต้องเชื่อมโยงกับการคุ้มครองประชาชนผู้บริโภค โดยเมื่อเกิดเหตุการณ์เกิดขึ้น สำนักงาน คปภ. จะต้องเข้าไปช่วยดูแลสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชน ขณะเดียวกันบริษัทประกันภัยก็ควรจะต้องมีส่วนที่จะต้องรับผิดชอบด้วย เพราะเงินค่าเบี้ยประกันภัยที่บริษัทประกันภัยรับมาเป็นเงินของประชาชน การขับเคลื่อนนโยบายด้านความยั่งยืน (Sustainability) ให้ยึดกรอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs) โดยผสมผสานไปกับแนวคิดเรื่อง ESG ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล

 

นอกจากนี้การพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัย จะต้องถอดบทเรียนและเรียนรู้จากประสบการณ์ที่ผ่านมา การพิจารณาให้ความเห็นชอบผลิตภัณฑ์ประกันภัยใหม่ ๆ จะต้องดำเนินการวิเคราะห์จุดอ่อนและความเสี่ยงต่าง ๆ อย่างเป็นระบบมากขึ้น ขณะเดียวกันผลิตภัณฑ์ประกันภัยก็จะต้องมีความหลากหลายมากขึ้นด้วย โดยธุรกิจประกันภัยยังมีโอกาสอีกมากจากโครงสร้างพื้นฐานของรัฐหรือการเดินทางสาธารณะ Public transportation เช่น สะพาน ทางยกระดับ สนามบิน ท่าเรือ ธุรกิจประกันภัยสามารถที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยเข้ามารองรับความเสี่ยงของภาครัฐได้ โดยออกแบบผลิตภัณฑ์ประกันภัยให้มีความเหมาะสมกับความเสี่ยงและอัตราเบี้ยประกันภัย

 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวด้วยว่า การที่ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยสุขภาพและต่อยอดเพิ่มก็จะสามารถเข้ามาเสริมสร้างหลักประกันให้แก่ประชาชนได้ รวมถึงการส่งเสริมให้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยพืชผลทางการเกษตรที่มารองรับความเสี่ยงของเกษตรกร เช่น การประกันภัยข้าวนาปี การประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ก็จะมีส่วนช่วยให้เกษตรกรมีความมั่นใจเพิ่มขึ้น ซึ่งควรขยายไปในพืชผลอื่น ๆ ต่อไป ส่วนการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้เข้าถึงการประกันภัยให้สะดวกขึ้นจะทำให้บริษัทลดต้นทุนเพิ่มประสิทธิภาพและต้องคำนึงถึงความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลด้วย รวมถึงอุตสาหกรรมประกันภัยควรมองเรื่อง Supply Chain Management (การจัดการห่วงโซ่อุปทาน) ตั้งแต่ต้นน้ำไปถึงปลายน้ำ เพื่อให้ทุกห่วงโซ่ของการผลิตระบบประกันภัยสามารถเข้าไปรองรับความเสี่ยงได้และอยู่ในกรอบของความยั่งยืน

จากนั้น ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(เลขาธิการ คปภ.) ได้กล่าวบรรยายพิเศษในหัวข้อ “การประกันภัยอย่างยั่งยืน โอกาสใหม่ในการเสริมสร้างความเข้มแข็งและการเติบโตของธุรกิจประกันภัยไทย” โดยมีใจความตอนหนึ่งว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมประกันภัยต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงมากมาย ทั้งเรื่องของความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด ความผันผวนของระบบเศรษฐกิจ ความไม่แน่นอนทางการเมืองระหว่างประเทศ รวมทั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด 19 ที่ส่งผลกระทบต่อความเข้มแข็งมั่นคงและการเติบโตอย่างยั่งยืนของระบบประกันภัย ซึ่งธุรกิจประกันภัยกำลังเผชิญกับโอกาสและความท้าทายหลากหลายประการ สำนักงาน คปภ. ให้ความสำคัญและส่งเสริมการสร้างสมดุลและความยืดหยุ่นให้กับระบบประกันภัยมาโดยตลอด เพื่อให้ธุรกิจประกันภัยสามารถรับมือกับความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกเหนือจากเงินกองทุนที่เข้มแข็งแล้ว แนวทางสำคัญที่จะสร้างสมดุลและความยืดหยุ่นในระบบประกันภัย ยังประกอบไปด้วย การกระจายความเสี่ยง การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารความเสี่ยง การเร่งประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและฐานข้อมูล การลงทุนในทรัพยากรบุคลากร และการยกระดับความพร้อมรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์ นอกเหนือจากการสร้างสมดุลและความยืดหยุ่นแล้ว อีกประเด็นสำคัญ คือ การสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน (Sustainability) ให้แก่ธุรกิจประกันภัย สำนักงาน คปภ. จึงได้ผลักดันให้มีการผนวกเรื่อง ESG เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายและกลยุทธ์ในการประกอบธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งธุรกิจประกันภัย ถือได้ว่ามีส่วนสำคัญในการสนับสนุนและการดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) และผลักดันให้เกิดการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน (Sustainability) ในฐานะผู้รับประกันภัยที่พัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยเพื่อรองรับความเสี่ยง

ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. ให้ความสำคัญกับการประกันภัยอย่างยั่งยืน หรือ Sustainable Insurance เพื่อปกป้องและส่งเสริมการใช้ทรัพยากรให้เป็นระบบและการแบ่งปันผลประโยชน์ที่เท่าเทียมกันในระยะยาว ซึ่ง ESG ในภาคประกันภัย มีความเกี่ยวเนื่องใน 3 มิติ คือ มิติที่ 1 การพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่ยั่งยืน ผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่ยั่งยืนต้องตอบโจทย์ความต้องการของภาคธุรกิจและประชาชนผู้ใช้บริการได้อย่างยั่งยืน

มิติที่ 2 การลงทุนของบริษัทประกันภัย ถือได้ว่าเป็นนักลงทุนสถาบันที่สำคัญในตลาดเงินและตลาดทุน ดังนั้น จึงควรมีการกำหนดนโยบายการลงทุนที่ชัดเจนในสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับ ESG เช่น การลงทุนใน green bond หุ้นยั่งยืนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นที่ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน

มิติที่ 3 การนำหลักการด้าน ESG เข้าไปใช้ในทุกกระบวนการในการตัดสินใจและดำเนินการของบริษัท โดยธุรกิจที่ประยุกต์ใช้หลักการ ESG ในการดำเนินธุรกิจจะมีโอกาสที่จะเติบโตมากขึ้นในระยะยาว และได้รับความเชื่อมั่นจากผู้ถือหุ้น ลูกค้า และพนักงาน

ดังนั้น หลักคิดสำคัญ 3 ข้อ เพื่อให้อุตสาหกรรมประกันภัยสามารถก้าวผ่านความท้าทายและสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน คือ ESG considerations is a must ทุกธุรกิจต้องเริ่มคิดถึงปัจจัยด้าน ESG อย่างจริงจัง Technology is an enabler เทคโนโลยี คือ ผู้สนับสนุนที่ทำให้เราเติบโตได้รวดเร็วและยั่งยืน และ Effective risk management is a defender การบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ คือ ผู้ปกป้องและระวังหลังให้เราเติบโตอย่างยั่งยืน

 

เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการวางรากฐานอุตสาหกรรมประกันภัยไทยให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืน คือ ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการช่วยผลักดัน สนับสนุน และขับเคลื่อนมาตรการและการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เพื่อให้ธุรกิจประกันภัยมีความเข้มแข็ง และมีบทบาทในการสร้างประโยชน์ต่อประชาชน ภาคธุรกิจ เศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งการประชุมครั้งนี้มี Highlight ตรงที่การประชุมกลุ่มย่อยเปิดโอกาสให้ภาคธุรกิจประกันภัยและสำนักงาน คปภ. มีการอภิปรายระดมความคิดเห็น เพื่อกลั่นกรองสู่ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ โดยแบ่งกลุ่มย่อยเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มย่อยที่ 1 ภายใต้หัวข้อ “Promoting Sustainable Insurance Products and Technology” หรือส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยมี นายชูฉัตร ประมูลผล รองเลขาธิการ ด้านกำกับ เป็นประธานการประชุม สำหรับกลุ่มย่อยที่ 2 ภายใต้หัวข้อ “Integrating Sustainability Risk to Supervisory Framework” หรือผสานความเสี่ยงด้านความยั่งยืนเข้ากับกรอบการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยยุคใหม่ โดยมี นางสาววสุมดี วสีนนท์ รองเลขาธิการ ด้านตรวจสอบ เป็นประธานการประชุม และกลุ่มย่อยที่ 3 ภายใต้หัวข้อ “Strengthening Consumer Protection in Sustainable Environment” หรือเสริมสร้างความเข้มแข็งของการคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อสภาพแวดล้อมที่ยั่งยืน โดยมี นายชัยยุทธ  มังศรี รองเลขาธิการ ด้านกฎหมาย คดี และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ เป็นประธานการประชุม ซึ่งการประชุมทั้ง 3 กลุ่มย่อยดังกล่าวมีเลขาธิการ คปภ. เข้าร่วมประชุมและให้ข้อเสนอแนะด้วยที่ประชุมทั้ง 3 กลุ่ม มีข้อสรุปร่วมกันและเห็นว่าสิ่งที่จะต้องดำเนินการต่อไป มีดังนี้

 

1. ส่งเสริมและสนับสนุนให้บริษัทประกันภัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่สอดคล้องกับแนวทาง ESG

2. สนับสนุนให้บริษัทประกันภัยใช้เทคโนโลยีในกระบวนการต่าง ๆ ตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ประกันภัย การเสนอขาย การรับประกันภัยและการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน รวมถึงส่งเสริมให้นำผลิตภัณฑ์เข้าสู่การทดสอบในโครงการ Sandbox ให้มากขึ้น

3. เสริมสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคและใช้ข้อมูลวิเคราะห์ (Data Analytic) เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค

4. ภาคธุรกิจประกันภัยควรมีแผนการบริหารความเสี่ยงอย่างเหมาะสมเพื่อให้เท่าทันกับเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป และควรจัดทำ Scenario Test ที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงของบริษัท เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ทั้งในเชิงมหันตภัยและโรคระบาดที่อาจเกิดขึ้น

5. บริษัทประกันภัยควรมีการรายงานข้อมูลที่ถูกต้อง รวดเร็ว และทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

6. สื่อสารต่อสาธารณชนโดยให้ข้อมูลที่ถูกต้อง มีวิธีการสื่อสารที่เหมาะสม

7. เน้นการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยให้ยืดหยุ่นในลักษณะ principle base รวมถึงการบูรณาการกับหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกันและสามารถให้ข้อมูลแก่ภาคธุรกิจและประชาชน

8. เสริมสร้างองค์ความรู้และความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนเกี่ยวกับการประกันภัย โดยบูรณาการร่วมกันระหว่างสมาคมที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจประกันภัย และสำนักงาน คปภ. รวมทั้งจัดตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่างสำนักงาน คปภ. และภาคธุรกิจในการติดตามและตรวจสอบข้อเท็จจริงหรือเหตุการณ์อันอาจกระทบต่อภาพลักษณ์ธุรกิจประกันภัย เพื่อทำความเข้าใจให้กับประชาชนได้อย่างทันท่วงที

9. แบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำความผิดของตัวแทนประกันภัยหรือนายหน้าประกันภัยที่สำนักงาน คปภ. เก็บรวบรวมให้แก่ภาคธุรกิจประกันภัยเพื่อเป็นการป้องกันการฉ้อฉลประกันภัย ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

10. นําเทคโนโลยีมาสนับสนุนการปฏิบัติงานด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลและระบบบริหารจัดการข้อร้องเรียนร่วมกันระหว่าง สํานักงาน คปภ. กับภาคธุรกิจประกันภัย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียน

11. สนับสนุนให้บริษัทใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยในการสื่อสารและทำความเข้าใจเกี่ยวกับการประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชนในขั้นตอนการเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยหรือเมื่อเกิดปัญหาข้อพิพาทหรือเมื่อมีการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน

“การประชุม CEO Insurance Forum 2023 ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากทุกภาคส่วน โดยเป็นครั้งแรกที่มีการถกแถลงและมีข้อสรุปร่วมกันระหว่างหน่วยงานกำกับดูแลภาคธุรกิจประกันภัยในเรื่องของความยั่งยืน ซึ่งส่วนตัวมีความเห็นว่าทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญในเรื่องความยั่งยืน โดยหากธุรกิจประกันภัยดำเนินการอย่างจริงจังในการช่วยสร้างเสริมความยั่งยืนแล้ว ก็เชื่อว่าผลที่ได้จะสะท้อนกลับมาทำให้ธุรกิจประกันภัยสามารถพัฒนาเติบโตได้อย่างยั่งยืนและมั่นคงเช่นกัน ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. จะนำประเด็นที่ได้ข้อยุติร่วมกันมาขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ