เปิดฉากงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติ ‘NPRCT – CU Symposium 2023’ จุดเปลี่ยนอนาคตไทยด้วยนวัตกรรมวิจัยพัฒนายาและวัคซีนในยุคโควิด-19

   เมื่อ : 19 ก.พ. 2566

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติ ‘NPRCT – CU Symposium 2023’ ด้านยาและวัคซีนครั้งใหญ่ ระดมนักวิจัยและนักวิชาการนานาประเทศ ร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ส่งเสริมการพัฒนาความร่วมมือใหม่ พร้อมโชว์งานวิจัยยาและวัคซีนในยุคโควิด-19 ที่พร้อมนำไปขับเคลื่อนองค์ความรู้ด้านการแพทย์ของประเทศให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลง เร่งเดินหน้าสู่ศูนย์วิจัยฯ ระดับโลก

ศาสตราจารย์ ดร.จักรพันธ์ สุทธิรัตน์ รองอธิการบดี ด้านการวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยถึงงานวิชาการระดับนานาชาติ “NPRCT – CU Symposium 2023” ที่กำลังจะเกิดขึ้น ภายใต้หัวข้อ ”บทบาทของไพรเมทที่ไม่ใช่มนุษย์ต่อการพัฒนายาและวัคซีนในยุคโควิด-19” (Roles of non-human primates on drug and vaccine development during the COVID-19 era” เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ส่งผลให้ทั่วโลกมีการตื่นตัวเป็นอย่างมากในการศึกษาค้นคว้า วิจัยวัคซีน สำหรับนำมาใช้ในการยับยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด – 19 ในมนุษย์ รวมทั้งหน่วยงานในประเทศไทยหลายหน่วยงาน ได้เร่งศึกษาค้นคว้า วิจัยวัคซีน เพื่อให้ได้วัคซีนที่มีคุณภาพเทียบเท่าบริษัทผลิตวัคซีนชั้นนำในต่างประเทศ สำหรับนำมาผลิตในเชิงอุตสาหกรรมภายในประเทศ และส่งออกไปยังต่างประเทศ  ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ จุฬาฯ ในฐานะหน่วยงานสนับสนุนสัตว์ทดลองกลุ่มไพรเมทในการศึกษาค้นคว้า จึงได้รับโอกาสจากหน่วยงานภายในประเทศที่คิดค้นวัคซีน สำหรับยับยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด – 19 ทั้ง 3 แพลตฟอร์ม ส่งผลให้ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ จุฬาฯ เป็นที่รู้จักจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และสร้างเครือข่ายงานวิจัยกับหน่วยงานต่าง ๆ

 

สำหรับแนวคิดและงานวิชาการที่นำเสนอในครั้งนี้ มุ่งเน้นไปที่การพัฒนายาและวัคซีนสำหรับทั้งโควิด- 19 โรคติดเชื้อ รวมทั้งเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้เชี่ยวชาญและสร้างเครือข่ายวิชาการร่วมกันระหว่างวิทยากร นักวิจัย และผู้เข้าร่วมงานจากสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัยทั้งในและต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย และพัฒนายาและวัคซีนในโรคติดเชื้อและโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่างๆ

ด้าน ศาสตราจารย์ ดร. สุจินดา มาลัยวิจิตรนนท์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยไพรเมทเเห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า งานวิชาการระดับนานาชาติ “NPRCT – CU Symposium 2023” ที่กำลังจะเกิดขึ้นเป็นการนำเสนอและแลกเปลี่ยนความรู้ใน 4 หัวข้อที่สำคัญ ซึ่งแต่ละหัวข้อก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมากในสังคมทั้งสิ้น ได้แก่

1.       Progress and Innovation for Drug and Vaccine Development on Infectious Diseases ความก้าวหน้าและนวัตกรรมการพัฒนายาและวัคซีนสำหรับโรคติดเชื้อ

2.       Progress and Innovation for Drug and Vaccine Development on Non – communication Diseases ความก้าวหน้าและนวัตกรรมการพัฒนายาและวัคซีนสำหรับโรคไม่ติดต่อ

3.       Monkey shortage during COVID – 19 Pandemic: What is the Benefit for Thailand? ปัญหาการขาดแคลนลิงในช่วงการแพร่ระบาดของ covid 19 จะเป็นประโยชน์กับประเทศไทยอย่างไร

4.       Thailand Non-Clinical Testing Services under OECD-GLP Network การบริการทดลองนอกคลินิกในประเทศไทย ภายใต้เครือข่าย OECD-GLP

จะเป็นการรวมตัวของผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาสัตว์กลุ่มไพรเมท โรคติดเชื้อ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง การพัฒนายาและวัคซีนจากสถาบันการศึกษา และสถาบันวิจัยทั้งในและต่างประเทศเพื่อมาร่วมแบ่งบันความรู้ ประสบการณ์ และสร้างเครือข่ายงานวิจัยร่วมกัน ซึ่งทางศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ จุฬาฯ จะให้การสนับสนุนทรัพยากรสัตว์กลุ่มไพรเมตและนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญ

 

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการผสานควานร่วมมือด้านวิชาการ ในงานวิชาการระดับนานาชาติ “NPRCT – CU Symposium 2023” จึงได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงระหว่างศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับ 3 สถาบันจากต่างประเทศ ดังนี้  1.Center of the Evolutionary Origins of Human Behaviour (EHUB) ศูนย์ต้นกำเนิดวิวัฒนาการพฤติกรรมมนุษย์ EHUB มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น  2.Department of Parasitology National Institute of Infectious Diseases (NIID) ภาควิชาปรสิต สถาบันโรคติดเชื้อแห่งชาติ (NIID) ประเทศญี่ปุ่น  และ School of Pharmacy Sungkyunkwan University คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยซองคยุนควน ประเทศเกาหลีใต้

 

“งานวิชาการระดับนานาชาติที่จัดขึ้นในปีนี้ เป็นการระดมผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาสัตว์กลุ่มไพรเมท โรคติดเชื้อ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง การพัฒนายาและวัคซีนจากสถาบันการศึกษา และสถาบันวิจัยทั้งในและต่างประเทศเพื่อมาร่วมแบ่งบันความรู้ ประสบการณ์ และสร้างเครือข่ายงานวิจัยร่วมกัน ซึ่งทางศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ จุฬาฯ จะให้การสนับสนุนทรัพยากรสัตว์กลุ่มไพรเมตและนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญ” ศาสตราจารย์ ดร. สุจินดา กล่าว