“ดนุช ตันเทอดทิตย์” จัดทัพลุยต่อยอดโครงการ U2T for BCG เต็มกำลัง เร่งเครื่องพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนสู่ตลาดผู้บริโภค หวังช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้า-สร้างรายได้ผู้ประกอบการเพิ่ม

   เมื่อ : 29 ม.ค. 2566

ปีงบประมาณ 2566 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ยังคงมุ่งเน้นเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและบริการด้าน BCG หรือ Bio Circular Green Economy การผสมผสานระหว่างเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green) ในพื้นที่ด้วยองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อให้ผลิตภัณฑ์และบริการออกสู่ตลาดอย่างเป็นระบบ มีการทำตลาดและขายสินค้าทั้ง online/offline ทั้งในและต่างประเทศ โดย อว.เป็นผู้พัฒนาระบบ ในการเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์ม (Platform) ที่สำคัญมีการจัดทำข้อมูล Thailand Community Data (TCD) ให้สมบูรณ์ครบทุกพื้นที่ รวมถึงการถ่ายทอดการใช้ประโยชน์จาก TCD ให้ผู้ที่จะใช้ประโยชน์ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและชุมชน

ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมคณะ เป็นประธานเปิดงาน “U2T For BCG to Smart City : กาลครั้งหนึ่งเมื่อสินค้าชุมชนบุกเมือง” ที่ลานกิจกรรม Zpotlight ศูนย์การค้า Zpell @ ฟิวเจอร์ปาร์ค รังสิต จัดโดยมหาวิทยาลัยราชภัฎวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งพื้นที่เป้าหมายในการจัดกิจกรรมตาม “โครงการส่งเสริมการตลาด เพื่อประชาสัมพันธ์และแนะนำผลิตภัณฑ์สินค้า U2T for BCG” จัดแสดงสินค้าออกสู่ตลาดผู้บริโภค เพื่อขยายโอกาสและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและพัฒนาช่องทางการตลาดให้แก่ผู้ประกอบการในภาคธุรกิจและภาคบริการ

ดร. ดนุช  ตันเทอดทิตย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า “โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG หรือ โครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล U2T for BCG เป็นโครงการที่ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยของรัฐ 70 กว่าแห่ง มหาวิทยาลัยเอกชน 20 แห่ง ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ในพื้นที่ เพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานรากให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเห็นได้ชัดเจนมากขึ้นต่อจากโครงการเดิมกว่า 3000 ตำบล และนำมาสู่การขยายผลในโครงการปัจจุบันกว่า 7000 ตำบล ครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งขณะนี้มีเสียงตอบรับจากสังคมและเสียงสะท้อนจากชุมชนท้องถิ่นเป็นจำนวนมาก ถือเป็นการสร้างปรากฎการณ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอีกครั้งของกระทรวง อว. ในการเตรียมความพร้อมและพัฒนาทักษะให้กับประชาชน เพื่อรองรับการฟื้นตัวของประเทศ หลังสถานการณ์โควิด โดยใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ในการขับเคลื่อนควบคู่ไปกับการจัดทำ Thailand Community Data (TCD) หรือข้อมูลชุมชนขนาดใหญ่ที่มีความสมบูรณ์ครบถ้วนในทุกพื้นที่”

ทั้งนี้  การเข้าใจ เข้าถึง พัฒนาในพื้นที่นำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรม ผลงานวิจัย ผลงานทางวิชาการมากมาย ซึ่งเราได้เห็นศักยภาพในแต่ละพื้นที่ แต่ละตำบลว่ามีศักยภาพ ทั้งในด้านทุนทางมนุษย์ ทุนประวัติศาสตร์ ทุนทางทรัพยากรธรรมชาติ ทุนทางสังคม ทุนทางประเพณีวัฒนธรรม และทุนอื่นๆ มากมาย ที่นำมาสร้างสรรค์สู่การพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชน และยกระดับให้เกิดมาตรฐานต่างๆ มากขึ้น พร้อมทั้งยังทำให้ผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชนเข้าถึงผู้บริโภคทั่วประเทศได้มากขึ้น และง่ายขึ้นผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นการพัฒนาบรรจุภัณฑ์เป็นสินค้า BCG มุ่งสู่การเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เนื่องด้วยกระแสของสังคมโลกได้ตระหนักถึงการใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น การมีโครงการ U2T for BCG เข้าไปในพื้นที่ยิ่งเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนและชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่ตระหนักในสิ่งแวดล้อมและยังมีกำลังใจ มีพลังในการขับเคลื่อนท้องถิ่น รักษ์ในท้องถิ่นบ้านเกิด ทำให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ บัณฑิตจบใหม่ กลับมาอยู่ใกล้ชิดกับครอบครัวอย่างอบอุ่น เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ และพัฒนาตนเองให้เป็นสตาร์ทอัพหรือผู้ประกอบการรุ่นใหม่ เกิดการสร้างนวัตกรรมและแนวคิดธุรกิจใหม่ที่สร้างคุณค่าแก่สังคมและประเทศชาติ

 

ดร.ดนุช กล่าวต่อว่า กระทรวง อว.เองได้วางแผนงานไว้อย่างเป็นระบบที่จะเชื่อมโยงพื้นที่กับการทำงานของกระทรวงให้มีความใกล้ชิดกันมากขึ้น ซึ่ง อว.มีหน่วยงานในสังกัด ที่พร้อมสนับสนุนทีมของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ พร้อมวางระบบการขอตำแหน่งทางวิชาการให้กับคณาจารย์ ไม่ว่าจะเป็นการขอผลงานทางวิชาการรับใช้สังคม หรือมาตรฐานเกณฑ์ใหม่ ๆ ที่จะรองรับการเปลี่ยนแปลง ขณะนี้ อว.ได้มีการวางแผนงานการตลาด แผนงานการให้องค์ความรู้ แผนงานธุรกิจที่จะรับรองการพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชนในอนาคตไว้เรียบร้อยแล้ว

“ปีนี้ อว. จะตอกย้ำด้วย โครงการส่งเสริมการตลาดเพื่อประชาสัมพันธ์และแนะนำผลิตภัณฑ์สินค้า U2T for BCG หลังจากใช้แนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบ BCG หรือ Bio Circular Green Economy การผสมผสานระหว่างเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green) เข้าไปพัฒนาผลผลิตของพี่น้องประชาชน ประสบความสำเร็จด้วยดี เมื่อมีสินค้าแล้วก็ต้องมีการจัดจำหน่าย เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคได้ตรงจุด ตรงความต้องการ ซึ่งสิ่งที่ อว.ต้องทำ คือ สร้างความเข้าใจและปรับตัวในการผลิตสินค้าให้สอดคล้องกับ BCG ซึ่ง อว.ได้ผสานความร่วมมือกับอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย หรือ Science Park คลินิกเทคโนโลยี ผู้ผลิตสินค้าระดับโอทอป(OTOP) และหน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจในสถาบันอุดมศึกษา หรือ University Business Incubator : UBI เข้ามาช่วยให้คำปรึกษาและร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ U2T อย่างเต็มที่ ถือเป็นการโชว์สินค้า แชร์เทคโนโลยี และนำไปต่อยอดต่อไปได้ หากใครมีความสนใจหรือต้องการพัฒนาสินค้าต่างๆ สามารถติดต่อไปได้ที่มหาวิทยาลัยใกล้บ้าน เราพร้อมให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยี การตลาด การจัดการ เพื่อนำไปต่อยอดธุรกิจ