กรุงศรีรายงานผลกำไรสุทธิปี 2565 จำนวน 30.71 พันล้านบาท เติบโต 20% รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและภาระการตั้งสำรองลดลง

   เมื่อ : 21 ม.ค. 2566

กรุงศรี (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ) เผยผลประกอบการของปี 2565 มีกำไรสุทธิจากการดำเนินงานปกติจำนวน 30713 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20% จากปีก่อนหน้า สนับสนุนโดยการลดลงของภาระการตั้งสำรอง และการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ ตามการเติบโตของสินเชื่อในกลุ่มที่มีอัตราผลตอบแทนสูงและส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิปรับตัวดีขึ้น

 

เงินให้สินเชื่อของกรุงศรีเติบโตอย่างทั่วถึงและครอบคลุมทุกกลุ่มลูกค้าในปี 2565 โดยสินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดใหญ่และสินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งที่ 3.8% และ 5.3% ตามลำดับ สะท้อนการปรับตัวดีขึ้นของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการลงทุนภาคเอกชน ที่ช่วยกระตุ้นความต้องการเงินทุนหมุนเวียนและสภาพคล่องของภาคธุรกิจ กอปรกับการบริหารจัดการโครงสร้างทางการเงินอย่างมีประสิทธิภาพของธนาคาร ส่งผลให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิและส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มสูงขึ้น

 

สรุปผลประกอบการและฐานะการเงินที่สำคัญสำหรับปี 2565:

·      กำไรสุทธิจากการดำเนินงานตามปกติในปี 2565 จำนวน 30713 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.9% หรือ 5104 ล้านบาท จากปี 2564 โดยมีปัจจัยหลักมาจากการปรับตัวดีขึ้นของภาระการตั้งสำรองและการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของเงินให้สินเชื่อ และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิที่ปรับตัวดีขึ้นในระหว่างปี

หากรวมรายการพิเศษจากการบันทึกกำไรจากเงินลงทุนจากการขายหุ้นของ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) (เงินติดล้อ) ในปี 2564 กำไรสุทธิลดลง 9.1% หรือจำนวน 3081 ล้านบาท

·      เงินให้สินเชื่อรวม เพิ่มขึ้น 3.1% หรือจำนวน 59033 ล้านบาท จากสิ้นเดือนธันวาคมปี 2564 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างทั่วถึงและครอบคลุมทุกกลุ่มลูกค้า ทั้งนี้ สินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดใหญ่และสินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมขยายตัว 3.8% และ 5.3% ตามลำดับ

·      เงินรับฝาก เพิ่มขึ้น 1.4% หรือจำนวน 25553 ล้านบาท จากสิ้นเดือนธันวาคมปี 2564 โดยมีปัจจัยหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของเงินรับฝากประเภทออมทรัพย์

·      ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ปรับตัวดีขึ้นอยู่ที่ 3.45% จาก 3.24% ในปี 2564 โดยเป็นผลมาจากการปรับตัวดีขึ้นของอัตราผลตอบแทนของสินทรัพย์ ขณะที่ต้นทุนทางการเงินคงที่

·      รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยจากการดำเนินงานตามปกติ ลดลง 4.6% หรือ 1561 ล้านบาท จากปี 2564 หากรวมรายการพิเศษจากการบันทึกกำไรจากเงินลงทุนจากการขายหุ้นของเงินติดล้อในปี 2564 รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงจำนวน 12288 ล้านบาท หรือ 27.4%

·      อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้อยู่ที่ 43.8% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานตามปกติ (หากไม่รวมกำไรพิเศษจากการขายหุ้นเงินติดล้อ) ที่ 43.2% ในปี 2564

·      อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL Ratio) อยู่ที่ 2.32% เมื่อเทียบกับ 2.20% ณ สิ้นปี 2564 กรุงศรียังคงบริหารจัดการความเสี่ยงด้วยความรอบคอบระมัดระวัง โดยมีสัดส่วนการตั้งสำรองต่อสินเชื่อรวมในระดับ 136 เบสิสพอยท์ในปี 2565  

·      อัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ อยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 167.4%

·      อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (ของธนาคาร) อยู่ที่ 17.97% ลดลงจาก 18.53% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2564

 

นายเซอิจิโระ อาคิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “จากความมุ่งมั่นในการสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยและการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคธุรกิจ กรุงศรีสามารถส่งมอบกำไรสุทธิจากการดำเนินงานที่แข็งแกร่งในปี 2565 โดยเงินให้สินเชื่อรวมเติบโตอย่างทั่วถึงและครอบคลุมทั้งกลุ่มลูกค้าธุรกิจและรายย่อย ทั้งนี้ ธนาคารยังคงดําเนินกลยุทธ์การขยายธุรกิจและบริหารจัดการความเสี่ยงด้วยความรอบคอบระมัดระวัง”

 

“สำหรับในปี 2566 แม้ว่าหลายตัวแปรทางความเสี่ยง อาทิ ภาวะเศรษฐกิจถดถอย และปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ อาจกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย อย่างไรก็ดี การท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนจะยังคงเป็นแรงสนับสนุนหลักที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยต่อเนื่องจากปี 2565 และบรรเทาผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ กรุงศรีคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ในอัตรา 3.6% ในปี 2566”

 

ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 กรุงศรี ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจการเงินที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับห้าในระบบเศรษฐกิจไทยจากมูลค่าสินทรัพย์ สินเชื่อและเงินรับฝาก และเป็นหนึ่งในสถาบันการเงินที่มีความสำคัญเชิงระบบ (D-SIB) มีสินเชื่อรวม 1.95 ล้านล้านบาท เงินรับฝาก 1.80 ล้านล้านบาท และสินทรัพย์รวม 2.64 ล้านล้านบาท ขณะที่เงินกองทุนของธนาคารอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 300.70 พันล้านบาท หรือเทียบเท่า 17.97% ของสินทรัพย์เสี่ยง โดยเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นของเจ้าของคิดเป็น 13.23%

 

 

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ