SCB CIO จับมือพันธมิตรทางธุรกิจเปิดมุมมองการลงทุนปี 2023 3บลจ.ประสานเสียงฟันธงจีน-เวียดนามเด่นแซงโค้งตลาดหุ้นสหรัฐ

   เมื่อ : 19 ธ.ค. 2565

SCB CIO ร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจ 3บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.)เปิดมุมมองการลงทุนผ่าน SCB CIO FORUM  2023  ฟันธงปีหน้าตลาดหุ้นจีน-เวียดนาม มีแววเด่นแซงโค้งตลาดพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ ในปี 2566 ด้วยจุดเด่นหุ้นลงไปแรง มูลค่าหุ้นถูก และแนวโน้มการเติบโตของผลประกอบการดี  ส่วนหุ้นสหรัฐเน้นหุ้นเชิงรับ มีการเติบโตแข็งแกร่ง จ่ายปันผลสม่ำเสมอ  ด้านหุ้นยุโรปเน้นกลุ่มโลจิสติกส์ หรือหุ้นที่มีรายได้หลักจากนอกประเทศ

 

นางสาวเกษรี อายุตตะกะ ผู้อำนวยการกลยุทธ์การลงทุน SCB Chief Investment Office (SCB CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า SCB CIO ได้เชิญพันธมิตรทางธุรกิจมาร่วมเปิดมุมมองด้านการลงทุน ในปี 2023  หัวข้อ “ จับสัญญาณการลงทุน สินทรัพย์ไหนไปรุ่ง ” ในงาน “SCB CIO FORUM 2023” ที่ผ่านมา  เนื่องจาก SCB WEALTH มีผลิตภัณฑ์การลงทุนที่หลากหลายในรูปแบบของ Open Architechture ที่ครอบคลุมการลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลายทั้งในและต่างประเทศ

            

คุณวโรฤทธิ์ จีระชน Head of Investment Research บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์  จำกัด (SCBAM)  กล่าวว่า  ในปี 2566 เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะชะลอตัวหรือถดถอยเล็กน้อยในช่วงครึ่งปีแรก ดังนั้นตลาดอาจผันผวนได้มาก ส่วนยุโรป ก็คาดว่าจะเกิดเศรษฐกิจถดถอย จากผลกระทบของสงครามที่ยืดเยื้อต่อจนถึงต้นปี 2566 ขณะที่เศรษฐกิจญี่ปุ่น ยังเติบโตได้เล็กน้อย จึงมองว่า ความน่าสนใจของการลงทุนในหุ้นจะมาอยู่ที่กลุ่มตลาด EM อย่างจีน และเวียดนาม เพราะเป็นประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตได้ดี

 

ในส่วนของเวียดนาม มูลค่าหุ้นลดลงไป 30% เมื่อเทียบกับช่วงต้นปี เนื่องจากมีประเด็นการจำกัดโควตาสภาพคล่องที่ธนาคารปล่อยกู้ได้ ซึ่งปี 2566 คาดว่าจะมีการให้เครดิตโควตาชุดใหม่ นอกจากนี้ตลาดหุ้นเวียดนาม เป็นตลาดที่นักลงทุนใช้บัญชีมาร์จิ้น กู้ยืมเงินจากบริษัทหลักทรัพย์ซื้อขายหุ้นกันมาก ดังนั้น ในช่วงตลาดขาลง นักลงทุนที่ใช้บัญชีนี้ซื้อขายก็โดนบังคับขายหุ้นเพราะมูลค่าหุ้นที่ลดลงมา ทำให้ถูกเรียกชำระหลักประกันเพิ่ม แต่ไม่สามารถชำระได้ อย่างไรก็ตาม หากลงทุนระยะยาวได้ ตลาดหุ้นเวียดนามก็น่าสนใจ โดยแนะนำให้ทยอยๆ ซื้อสะสม 

 

สำหรับ ตลาดพัฒนาแล้วแม้จะมีความน่าสนใจน้อยกว่า แต่ก็ยังมีกลุ่มที่ราคาปรับลดลงมามากแล้ว  เช่น หุ้นเซมิคอนดักเตอร์  รวมถึงกลุ่มหุ้นขนาดกลางขนาดเล็กที่ปกติจะทำผลงานได้ดีกว่าหุ้นใหญ่ในช่วงหลังจากเศรษฐกิจถดถอยผ่านพ้นไป ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2566   

 

“นักลงทุนสามารถรอให้ตลาดลงไปถึงจุดต่ำสุด (bottom) ก่อน แล้วเข้าไปซื้อทีหลังก็ได้ เพราะจากการศึกษา พบว่า มีโอกาสที่ดีกว่าการเข้าไปซื้อในช่วงก่อนถึงจุดต่ำสุด” คุณวโรฤทธิ์ กล่าว

 

ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่นักลงทุนยังต้องระวังคือ การเกิดเศรษฐกิจถดถอยซ้ำรอบสอง โดยอาจเริ่มเห็นความกังวลในประเด็นนี้ช่วงปี 2566 และอาจจะเกิดการถดถอยซ้ำในปี 2567 ได้ หากเป็นเช่นนั้น ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อาจปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกรอบเพื่อสู้เงินเฟ้อปลายปี 2566 ซึ่งจะทำให้ความหวังที่สินทรัพย์เสี่ยงจะปรับขึ้นช่วงครึ่งปีหลังพังลงได้

 

ด้าน ดร.ชาญวุฒิ รุ่งแสงมนูญ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี  จำกัด (มหาชน) หรือ MFC มองว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2566 น่าจะชะลอตัวลงแต่คงไม่ถดถอย โดยเติบโตได้ 0.4% อย่างไรก็ตาม ถ้ามองรายไตรมาส ก็มีโอกาสค่อนข้างสูงที่จะเกิดการถดถอยทางเทคนิค  คือเศรษฐกิจติดลบ 2 ไตรมาสติดกัน ในช่วงไตรมาส 1-2 ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ทำให้เฟดต้องขึ้นดอกเบี้ย ส่วนในยุโรป คาดว่าเศรษฐกิจจะถดถอยแต่ไม่มาก อยู่ที่ -0.1 ถึง -0.2% โดยคาดว่าได้เริ่มถดถอยตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2565 และอาจถึง ไตรมาส 2 ปี 2566 ส่วนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะล่าช้ากว่าสหรัฐฯ และคาดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่น จะเติบโตได้ 1.4-1.5% 

 

ในช่วงเวลาเช่นนี้ การลงทุนในตลาดเกิดใหม่จึงน่าสนใจ โดยตลาดอันดับแรกที่มองคือจีน ตามด้วยเวียดนาม เพราะมูลค่าหุ้นค่อนข้างดีทั้งคู่ แต่จีนมีโอกาสฟื้นตัวก่อน เพราะรอผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิดเป็นศูนย์ (Zero Covid) และประชากรมีเงินออมสูงพร้อมใช้จ่ายเมื่อเปิดเมืองแล้ว โดยแนะนำให้เข้าสะสมหุ้นจีนได้ตั้งแต่ไตรมาสแรก ส่วนเวียดนามมีความน่าสนใจเพราะมีเรื่องราวการเติบโตที่ดี แต่มีความเสี่ยงเรื่องการจัดการภายในอยู่

 

สำหรับตลาดสหรัฐฯ หากต้องการลงทุน ควรเน้นหุ้นเชิงรับ ที่การเติบโตแข็งแกร่ง ผลการดำเนินงานดี จ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ โดยการลงทุนแบบคัดเลือกหุ้นรายตัวยังมีโอกาสที่ดีอยู่ ส่วนของหุ้นยุโรป ควรเน้นหุ้นกลุ่มโลจิสติกส์ หรือหุ้นกลุ่มที่มีรายได้หลักจากนอกยุโรป และผลการดำเนินงานยังเติบโตได้ดี มากกว่าการลงทุนบนดัชนีหุ้นยุโรปโดยรวม

 

ด้านการลงทุนในตราสารหนี้ แนะนำให้ทยอยสะสมพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว ที่จะได้ประโยชน์เมื่อผลตอบแทนตราสารหนี้ (Bong Yield) ปรับลดลงมากกว่าพันธบัตรระยะสั้น ส่วนหุ้นกู้ควรเน้นกลุ่ม Investment Grade ขณะที่สินทรัพย์ทางเลือก กลุ่มทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ต่างประเทศ (Global Reit) โดยเฉพาะในเอเชีย มีความน่าสนใจ เพราะมีโครงสร้างจ่ายเงินปันผลสูงและการเติบโตสูง โดยเน้นกลุ่มที่อยู่ในธีมโลจิสติกส์ ธีมเปิดเมือง

 

นายบดินทร์ พุทธอินทร์ ผู้อำนวยการส่วนกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน อิสท์สปริง (ประเทศไทย) จำกัด (Eastspring) กล่าวว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่น่าจะถึงขั้นถดถอยในปี 2566 อาจเป็นเพียงเติบโตเล็กน้อย โดยให้น้ำหนัก 40% ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเติบโตแบบบางๆ ให้น้ำหนัก 40% ว่าจะเกิดเศรษฐกิจถดถอยแบบปานกลาง (Mild Recession) และให้น้ำหนักแค่ 20% ว่าจะเกิดเศรษฐกิจถดถอยรุนแรง ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ถดถอยหรือไม่นั้น ก็คือ การเปิดประเทศของจีน ว่าจะเป็นไปตามคาดหรือไม่ เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯมีการเชื่อมโยงทางการค้าการลงทุนกับจีนสูง หากจีนเปิดประเทศไม่ได้ภายในกลางปี 2566 สหรัฐฯ ก็อาจเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ แต่ถ้าเปิดประเทศไม่ได้จนถึงปลายปี เศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็มีโอกาสจะถดถอยรุนแรง

 

ส่วนยุโรป เวลานี้เริ่มเห็นสัญญาณเศรษฐกิจชะลอตัวแล้ว คาดว่าเศรษฐกิจจะถดถอยแบบไม่รุนแรง ในไตรมาสที่ 2-3 ปี 2566 ส่วนญี่ปุ่น ไม่น่าจะเกิดเศรษฐกิจถดถอย และปัจจุบันยังเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย และมีมาตรการการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจอยู่

 

ด้วยปัจจัยด้านเศรษฐกิจนี้ ทำให้เรามองว่า ตลาดเกิดใหม่ในเอเชียคงจะมีความน่าสนใจลงทุนมากกว่าตลาดพัฒนาแล้ว ในปี 2566 โดยช่วงครึ่งปีหลังแนวโน้มการฟื้นตัวของตลาดน่าจะมาจากการเปิดประเทศของจีน คาดว่าจะเกิดขึ้นในไตรมาส 2 ซึ่งจะทำให้ตลาดเกิดใหม่ที่ค้าขายกับจีนได้ประโยชน์

 

สำหรับตราสารหนี้ ของบริษัทที่มีคุณภาพ อยู่ในระดับ Investment Grade ยังน่าสนใจ โดยอาจลดความเสี่ยงจากการที่บริษัทบางแห่งจะถูกลดระดับความน่าลงทุนได้ด้วยการลดระยะเวลาการถือครองให้สั้นลงได้ ในส่วนของสินทรัพย์ทางเลือกมองว่า Global Reit น่าสนใจ