การเคหะแห่งชาติ เดินหน้าเปิดตัวเว็บไซต์ “พม.พารวย สร้างงาน สร้างรายได้” พลิกวิกฤตเป็นโอกาส พัฒนาวิสาหกิจชุมชนรุกตลาดออนไลน์
การเคหะแห่งชาติเปิดตัวเว็บไซต์ “พม.พารวย สร้างงาน สร้างรายได้” หรือ www.pormorpharuay.com เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะทำการตลาดให้กับผลิตภัณฑ์ชุมชนได้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงสินค้าได้ง่ายขึ้น และยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในชุมชนให้เติบโตอย่างยั่งยืน
นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นับตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน มีผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวเป็นจำนวนมาก รวมไปถึงผู้อยู่อาศัยในชุมชนของการเคหะแห่งชาติที่ถูกลดเวลาการทำงาน ลดค่าจ้าง หรือถูกเลิกจ้าง ส่งผลให้เศรษฐกิจในครัวเรือนไม่คล่องตัวเหมือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบมากกว่าคนทั่วไป พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ทุกภาคส่วนบูรณาการความร่วมมือในการช่วยเหลือประชาชนตามบทบาทภารกิจของแต่ละหน่วยงาน และ นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้มอบนโยบายให้การเคหะแห่งชาติเร่งหามาตรการที่ส่งเสริมการสร้างอาชีพเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบาง เพื่อเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจของประชาชนกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งสนับสนุนให้ประชาชนมีอาชีพ สร้างรายได้ให้กับครัวเรือนอย่างเป็นรูปธรรม
การเคหะแห่งชาติได้จัดทำโครงการส่งเสริมอาชีพและผลิตภัณฑ์ชุมชนของการเคหะแห่งชาติ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยมีเป้าหมายต้องการยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยในชุมชนที่อยู่ในความรับผิดชอบของการเคหะแห่งชาติ พร้อมกำหนดแนวทางการทำงานเพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัยปัจจุบัน ด้วยการส่งเสริมอาชีพและผลิตภัณฑ์ชุมชนของการเคหะแห่งชาติ ผ่านเว็บไซต์ “พม.พารวย สร้างงาน สร้างรายได้” หรือ www.pormorpharuay.com และเฟซบุ๊กเพจแฟนเพจ “พม.พารวย สร้างงาน สร้างรายได้” ซึ่งการเคหะแห่งชาติได้สร้างช่องทางดังกล่าวขึ้นมาเพื่อเป็นสื่อกลางในการประชาสัมพันธ์สินค้าชุมชนของการเคหะแห่งชาติทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนทุกเพศ ทุกวัย สามารถเข้าถึงสินค้าชุมชนได้ง่ายขึ้น อีกทั้งช่วยกระตุ้นและต่อยอดการสร้างรายได้ สร้างชุมชน ทำให้เศรษฐกิจในชุมชนและสังคมดีขึ้น มีความเป็นอยู่ที่ดี และส่งผลให้เกิดชุมชนเข้มแข็งและยั่งยืนในระยะยาว
“โครงการรังสิต คลอง 10/12 เป็นอีกหนึ่งชุมชน ที่มีความโดดเด่นในเรื่องการมีส่วนร่วมของผู้อยู่อาศัยซึ่งรวมตัวกันทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชุมชน ทั้งปลูกผัก รับซื้อขยะรีไซเคิล รับซื้อน้ำมันเก่า รวมถึงการรวมกลุ่มกันผลิตและจำหน่ายสินค้าชุมชน จนนำไปสู่การจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนที่ภายใต้ชื่อ “กลุ่มรักษ์สิ่งแวดล้อม” โดยการเคหะแห่งชาติได้สนับสนุนการฝึกอาชีพด้วยการบูรณาการความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อสร้างองค์ความรู้และทักษะอาชีพที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อยู่อาศัย เพื่อนำไปต่อยอดในการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัว”
นางสาวคัทธีญา ผาคำ ประธานกรรมการกลุ่มวิสาหกิจชุมชน โครงการรังสิต คลอง 10/2 เล่าว่า การรวมกลุ่มกันของคนในชุมชนเริ่มต้นจากการเคหะแห่งชาติได้จัดกิจกรรมในวันสำคัญและประเพณีต่าง ๆ ทำให้ผู้อยู่อาศัยมีสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน มีความรัก ความผูกพันเหมือนคนในครอบครัวเดียวกัน รวมถึงการจัดอบรมฝึกอาชีพที่ทำให้หลายคนมีทักษะและความเชี่ยวชาญมากพอที่จะนำมาประกอบอาชีพได้ โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่ต้องการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ และมีรายได้เป็นของตนเองโดยไม่ต้องพึ่งพาลูกหลาน จึงได้รวมกลุ่มกันจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนใช้ชื่อว่า “กลุ่มรักษ์สิ่งแวดล้อม” และดำเนินการผลิต-จำหน่ายสินค้าชุมชนภายใต้แบรนด์ “เอื้อรักษ์” ประกอบด้วย ผงพอกลดปวด ด้วยสูตรแพทย์แผนไทย ของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบึงสนั่น ไม้กวาดรักษ์ ผลิตจากขวดพลาสติกเหลือใช้ในชุมชน น้ำยาล้างจาน ถนอมมือ และไข่เค็มดองน้ำสมุนไพร ซึ่งแต่ละผลิตภัณฑ์ล้วนแล้วเป็นสินค้ามีคุณภาพที่ดีต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ตามสโลแกน “เอื้อรักษ์ สินค้าดีเพื่อคุณ เพื่อชุมชน เพื่อโลกของเรา”
ต้องขอขอบคุณการเคหะแห่งชาติที่สนับสนุนกันมาตั้งแต่เริ่มต้น จนถึงตอนนี้ก็ยังเข้ามาช่วยในเรื่องนำสินค้าแบรนด์ “เอื้อรักษ์” จัดจำหน่ายในเว็บไซต์และเฟซบุ๊กแฟนเพจ “พม.พารวย สร้างงาน สร้างรายได้” ซึ่งทำให้มีจำนวนฐานลูกค้าเพิ่มขึ้น จากเมื่อก่อนที่ขายกันแค่ในชุมชน หรือไปออกร้านตามสถานที่ต่าง ๆ แต่ตอนนี้อยู่ในชุมชนก็มีคนโทรศัพท์มาสั่งสินค้า ทำให้ไม่ต้องเสียค่าเช่าที่หรือค่าเดินทางจำนวนมาก ”
“สำหรับชุมชนของการเคหะแห่งชาติที่อยากเพิ่มช่องทางจำหน่ายสินค้าชุมชนผ่านทางเว็บไซต์เว็บไซต์และเฟซบุ๊กแฟนเพจ “พม.พารวย สร้างงาน สร้างรายได้” สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ฝ่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต ชุมชน และความรับผิดชอบต่อสังคม โทร. 0 2351 7723 หรือ Call Center 1615” นายทวีพงษ์ กล่าวในที่สุด