KKP ร่วมนำตัวแทนเยาวชนนานาชาติที่มา APEC Voices of the Future 2022 ส่งมอบปฏิญญาเยาวชนให้แก่นายกรัฐมนตรี

   เมื่อ : 15 พ.ย. 2565

กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร(KKP) โดยนายทวีศักดิ์ เผ่าพัลลภ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หนึ่งในทีมผู้ให้ความรู้และที่ปรึกษาให้กับเยาวชนผู้แทนประเทศไทย(Educator) ร่วมกับ APEC VOTF โดยนาย James Soh Chair of APEC VOTF และตัวแทนเยาวชนจาก 14 เขตเศรษฐกิจในโครงการ APEC Voices of the Future 2022 (APEC VOTF 2022) ส่งมอบปฏิญญาเยาวชน พ.ศ. 2565 (Youth Declaration 2022) ให้แก่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้นำของเขตเศรษฐกิจเจ้าภาพฯ ซึ่งกลุ่มตัวแทนเยาวชนได้ร่วมกันร่างขึ้น เพื่อสะท้อนมุมมองของเยาวชนที่มีต่อปัญหา ความท้าทาย และโอกาสในประเด็นทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดขึ้นในกลุ่มประเทศเอเปค พร้อมเสนอแนะวิธีแก้ไขปัญหา โดยพิธีมอบจัดขึ้นที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2565   

ปฏิญญาเยาวชน พ.ศ. 2565 ที่ยื่นต่อนายกรัฐมนตรี มีใจความสำคัญ 3 ประการ คือ Open. Connect. Balance ดังนี้ 

 

Open การเปิดโอกาสด้วยการพัฒนาทรัพยากรบุคคล ส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษาและทักษะที่พร้อมสำหรับอนาคตอย่างเท่าเทียมกันให้กับเยาวชนในพื้นที่ชนบทและกลุ่มด้อยโอกาส มุ่งเน้นการมีทักษะที่หลากหลายพร้อมรับมือสำหรับศตวรรษที่ 21 ปรับแก้ไขหลักสูตรการเรียน และส่งสริมความร่วมมือทางวิชาการ ตลอดจนเสริมสร้างศักยภาพระบบเศรษฐกิจ ลดอุปสรรคสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยเพื่อเปิดโอกาสเข้าสู่การค้าโลก มีมาตรฐานความปลอดภัยด้านไซเบอร์ รวมถึงรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง  

 

Connect เสริมสร้างความแข็งแกร่งของห่วงโซ่อุปทานและการเชื่อมโยงเศรษฐกิจ สังคม และการศึกษาทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยการส่งเสริมสันติภาพระหว่างประเทศผ่านการทำการค้า เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่ง ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ ความรู้และบริการประเภทซอฟต์แวร์ เพิ่มความโปร่งใสเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติด้านแรงงาน เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่ทั้งใน Al และ blockchain นอกจากนี้ คือการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงหลักสูตรการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายแบบสากลและให้ทุนการศึกษานานาชาติในเอเชียแปซิฟิกให้กับเยาวชนรวมไปถึงชนพื้นเมืองและกลุ่มที่ถูกมองข้าม ตลอดจนสิทธิ์ในการเข้าถึงวีซ่าต่างๆ เพื่อให้ง่ายต่อการศึกษาและทำงานในต่างประเทศ โดยมีคณะกรรมการที่ปรึกษาเยาวชนช่วยให้คำแนะนำอย่างต่อเนื่อง 

 

Balance สนับสนุนแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตามแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ - เศรษฐกิจหมุนเวียน - เศรษฐกิจสีเขียว (Bio - Circular - Green (BCG) Economy Model) เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน ตลอดจนการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม ด้วยการสนับสนุนการนำเศรษฐกิจสีเขียวและเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้เพื่อลดของเสียจากการผลิตและการปล่อยคาร์บอนให้เหลือน้อยที่สุด ไปจนถึงการผลักดันให้การปล่อยคาร์บอนสุทธิกลายเป็นศูนย์ในเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก และเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม ควรส่งเสริมการเชื่อมต่อระหว่างอุตสาหกรรม ทักษะอาชีพ เข้ากับวิชาการหลักสูตรการเรียน และการเข้าถึงเทคโนโลยีที่ให้บริการทางการเงินต่างๆ รวมถึงการลดความเหลื่อมล้ำทางเพศในที่ทำงานของผู้หญิงและเด็กผู้หญิง ด้วยการปฏิรูปกฎระเบียบงบประมาณทางการเงิน และสิทธิ์ต่างๆ เพื่อให้แน่ใจว่าผู้หญิงจะได้รับคัดเลือกเข้าทำงาน อีกทั้งส่งเสริมสตรีในบทบาทอื่นๆ เช่น ผู้หญิงในรัฐบาล ผู้ประกอบการ/ธุรกิจ และเสริมสร้างความสามารถด้านดิจิทัล ตลอดจนจัดหาเงินทุน และสร้างทักษะทางการตลาดสำหรับสตรีพื้นเมืองที่ต้องการเริ่มต้นธุรกิจของตนเองเหล่านี้ 

 

นอกจากนี้ เพื่อให้มั่นใจว่าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะสามารถรับมือกับแรงกระแทกด้านวิกฤตการณ์ โรคระบาด และเหตุฉุกเฉินอื่นๆ ได้ ควรส่งเสริมให้มีนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้เพื่อรับมือและจัดการกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ การร่วมมือกันในการอนุรักษ์ธรรมชาติ ลดการใช้พลังงาน ส่งเสริมการค้าสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อม และช่วยเหลือชุมชนในการปรับตัวเข้ากับรูปแบบสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง รวมถึงกำหนดให้มีการส่งรายงานความยั่งยืนเพื่อให้มั่นใจหน่วยงานธุรกิจมีการนำไปปฏิบัติจริง  

 

ความมั่นคงทางอาหารจะช่วยสร้างหลักประกันด้านสุขภาพให้กับประชากรในเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก รัฐบาลควรมีแนวปฏิบัติด้านอาหารที่สร้างสรรค์และยั่งยืน ด้วยการสร้างแรงจูงใจและส่งเสริมความสามารถในการทำเกษตรกรรมยั่งยืนและสร้างความมั่นคงของแหล่งอาหาร ลดผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อระบบอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ชนบท โดยการลงทุนในระบบติดตามภัยพิบัติ และบูรณาการแนวคิดที่เกี่ยวข้องเข้ากับการศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบ รวมถึงประสานความร่วมมือทางวิชาการกับองค์กรที่ไม่แสวงผลกับไรอย่าง NGOS ตลอดจนกระจายอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการอย่างเหมาะสมและเท่าเทียมกัน รวมไปถึงการกระจายผลประโยชน์ของการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างสมเหตุสมผลและครอบคลุมทุกภาคส่วนภายใต้กรอบการทำงานที่ชอบด้วยกฎหมาย 

 

คำประกาศข้างต้นเป็น ‘ปฏิญญา’ ที่เกิดจากความพยายามร่วมกันของตัวแทนเยาวชนจาก 21 เขตเศรษฐกิจ ในโครงการ APEC Voices of the Future 2022 โดยการระดมความคิดเพื่อสะท้อนมุมมองของเยาวชนที่มีต่อปัญหา ความท้าทาย และโอกาสในประเด็นทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดขึ้นในกลุ่มประเทศเอเปค ซึ่งแต่ละประเทศล้วนมีบริบทและลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกันไป แต่ในขณะเดียวกันก็มีประเด็นสากลร่วมกันในระดับโลก พร้อมเสนอแนะวิธีแก้ไขปัญหาตามสถานการณ์ในปัจจุบัน รวมถึงแนวทางการเปลี่ยนแปลงในอนาคต เพื่อปูทางสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นสำหรับคนรุ่นใหม่และประชากรในเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการ APEC Voices of the Future  2022 เพิ่มเติมได้ที่ https://apecvoicesofthefuture.org/