เส้นทางตลอด 9 ทศวรรษ เมืองไทยประกันภัย

   เมื่อ : 11 พ.ย. 2565

หากเปรียบคนจีนเป็นเมล็ดพืชที่ลอยตามกระแสน้ำ เมื่อน้ำพัดพาไปบนพื้นที่หรือแผ่นดินใด ก็ดูเหมือนเมล็ดพันธุ์นั้นจะเจริญงอกงามในทุกสถานที่ เช่นเดียวกับคน “ตระกูลอึ้ง” ชาวจีนโพ้นทะเลจากมณฑลกวางตุ้ง ที่ดั้นด้นฝ่าคลื่นลมท้องทะเลเข้ามาปักหลักในแผ่นดินสยาม จนกระทั่งกลายเป็น “ตระกูลล่ำซำ” ที่มีบทบาทสำคัญในแวดวงธุรกิจและการธนาคารในทุกวันนี้

 

นายอึ้งเมี่ยวเหงี่ยน บรรพบุรุษของตระกูลล่ำซำ เดินทางจากมลฑลกวางตุ้ง เข้าสู่ประเทศไทยในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และยังตั้งชื่อภาษาไทยของตนเองว่า “นายล่ำซำ” ที่มีความหมายว่า “คนใส่เสื้อสีน้ำเงิน”

 

นายอึ้งเมี่ยวเหงี่ยน เปิดร้านขายไม้ซุง ชื่อว่า “ห้างล่ำซำ” เป็นผู้ทำธุรกิจป่าไม้ในแถบจังหวัดนครสวรรค์และแพร่ อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในผู้นำชุมชนชาวจีนแคะ ที่ก่อตั้ง “โรงพยาบาลเทียนฟ้ามูลนิธิ” เมื่อปี พ.ศ. 2446 เพื่อช่วยเหลือดูแลชาวจีนผู้ยากไร้  โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดโรงพยาบาลเทียนฟ้ามูลนิธิ ในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2448

ต่อมา นายอึ้งยุกหลง ล่ำซำ ทายาทรุ่นที่ 2 เข้ามาดูแลรับผิดชอบธุรกิจของตระกูล โดยสมรสกับ นางทองอยู่ หวั่งหลี มีบุตรด้วยกัน 7 คน ต่อมาในปี พ.ศ. 2475 ได้ขยายมาทำธุรกิจ “กวางอันหลงประกันภัย” ทำหน้าที่รับประกันวินาศภัย การขนส่งสินค้า ซึ่งธุรกิจได้ขยายตัวและเปลี่ยนชื่อเป็น “บริษัท ล่ำซำประกันภัยและคลังสินค้า จำกัด” โดยภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น “บริษัท ภัทรประกันภัย จำกัด (มหาชน)” ตามลำดับ

 

นอกจากนี้ นายอึ้งยุกหลง ยังมีบทบาทและอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่งใน “สมาคมพาณิชย์จีน” ซึ่งเป็นสมาคมที่มีอิทธิพลต่อชาวจีนโพ้นทะเลและชาวไทยเชื้อสายจีนมากที่สุดในยุคนั้น และ นายอึ้งยุกหลง ยังได้รับตำแหน่งประธานหอการค้าจีน สมัยที่ 9 อีกด้วย

 

ตระกูลล่ำซำ มิใช่เป็นเพียงตระกูลเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงยาวนานเท่านั้น แต่เป็นตระกูลที่ยังรักษาเอกภาพของตระกูลไว้อย่างเหนียวแน่น ด้วยความรักสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของทายาทที่ถูกถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ทำให้ธุรกิจถูกขยายออกไปอย่างกว้างขวาง

ในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 นายโชติ นายจุลินทร์ และ นายเกษม ทายาทของตระกูลล่ำซำ รุ่นที่ 3 และญาติมิตรชาวไทยเชื้อสายจีน ได้ร่วมกันก่อตั้ง “ธนาคารกสิกรไทย” ขึ้นในปี พ.ศ. 2488

 

ต่อมาในปี พ.ศ. 2494 นายจุลินทร์ ล่ำซำ ได้เปิด บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต โดยมี นายบัญชา ล่ำซำ หลานชาย ซึ่งเป็นทายาทรุ่นที่ 4 เข้ามาช่วยบริหารงาน ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ

จนมาปี พ.ศ. 2503 นายโพธิพงษ์ ล่ำซำ ทายาทรุ่นที่ 4 เริ่มเข้ามาทำงานธุรกิจประกัน โดยเริ่มต้นจากตำแหน่งเสมียน ช่วยเคลมรถยนต์ที่ประสบอุบัติเหตุ ยุคนั้นประกันภัยและประกันชีวิตยังอยู่รวมกันในบริษัทเดียว แต่หลังการประกาศใช้พระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 จึงได้แยกส่วนประกันภัยออกมาตั้งเป็น บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด

 

การบริหารงานกว่า 60 ปี ของ นายโพธิพงษ์ นั้น ต้องพบเจอวิกฤตมากมาย แต่ด้วยความตั้งมั่นและยึดหลัก “ความซื่อสัตย์สุจริต” ทั้งต่อลูกค้า และต่อองค์กรเป็นสำคัญ จึงสามารถผ่านพ้นวิกฤตต่างๆ มาได้ด้วยดี

ปี พ.ศ. 2541 นางนวลพรรณ ล่ำซำ ทายาทรุ่นที่ 5 ของตระกูลได้เข้ามาดูแลรับผิดชอบงาน ด้านการขายและการตลาด โดยในปี พ.ศ.2548 ขึ้นดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการ

 

เพื่อเป็นการสร้างความแข็งแกร่งและศักยภาพในการแข่งขันทางธุรกิจและบริการ จึงเกิดการควบรวมกิจการระหว่าง บริษัท ภัทรประกันภัย จำกัด (มหาชน) เข้ากับ บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด ในชื่อ “บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน)”

และในปี พ.ศ. 2560 นางนวลพรรณ ได้ขึ้นดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทำให้ปัจจุบัน บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทประกันวินาศภัยของคนไทยที่ดำเนินธุรกิจยาวนานที่สุดในประเทศไทย และยืนหยัดอย่างเข้มแข็ง ด้วยเอกลักษณ์ในการบริหารงานที่ซื่อสัตย์สุจริตจริงใจ โปร่งใส ยึดหลักธรรมาภิบาล สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานตราตั้ง แก่ บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ให้เป็นเครื่องหมายเชิดชูเกียรติสืบไป  เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2565 โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2565 ซึ่งเป็นปีที่บริษัทฯ มีวาระครบรอบ 90 ปีของการก่อตั้ง จึงถือเป็นเกียรติยศศักดิ์ศรีของบรรพบุรุษ ผู้บริหาร พนักงานในทุกยุคสมัย และเป็นแรงบันดาลใจให้มุ่งมั่น ตั้งใจดำเนินงาน เพื่อสร้างความเจริญก้าวหน้ามั่นคงแก่องค์กร ด้วยปณิธานยึดมั่นในความดี มีธรรมาภิบาล ขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโตเคียงคู่สังคมไทยอย่างยั่งยืน

ทุกก้าวเดินคือภารกิจแห่งความภาคภูมิใจ ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือเยียวยาเวลาเกิดภัย รวมไปถึงความต้องการที่จะช่วยส่งเสริมชีวิตของผู้คนให้ดีขึ้น รู้สึกอุ่นใจไม่กังวลต่อภัยอันตราย และนี่คือเส้นทางของ 9 ทศวรรษแห่งรอยยิ้ม “เมืองไทยประกันภัย ยิ้มได้เมื่อภัยมา”