เลขาธิการ คปภ. เปิดมุมมองใหม่ก้าวสู่จักรวาลแห่งเทคโนโลยีประกันภัย พร้อมแนะธุรกิจประกันภัยไทย ใช้กลยุทธ์แบบ Insurance Liquid Ecosystem และหลัก “3R” เพื่อให้ทันเกมส์

   เมื่อ : 10 ต.ค. 2565

งานมหกรรมเทคโนโลยีประกันภัยสุดยิ่งใหญ่ “Thailand InsurTech Fair 2022” ภายใต้แนวคิด “Reshaping Insurance to the Multiverse of InsurTech for the Future ก้าวสู่จักรวาลแห่งเทคโนโลยีประกันภัย เพื่อโลกใหม่  ไร้ขีดจํากัด” เริ่มแล้วตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2565 ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ฮอลล์ 6 และทางออนไลน์ www.TIF2022.com 

 

โดย highlight อันหนึ่งของงาน คือการเติมเต็มความรู้ด้านเทคโนโลยีประกันภัยจากเหล่าวิทยากรมากประสบการณ์ที่มาแปรเทคนิค บทเรียน สารพัดประสบการณ์กับเส้นทางประกันภัยยุคดิจิทัล ซึ่งดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. เป็นคนแรกที่เปิดประเดิมมุมมองของ Regulator ในประเด็น “Striving for Hypergrowth in the Era of Insurance Multiverse” หรือ “การมุ่งสู่การเติบโตอย่างก้าวกระโดด ภายใต้จักรวาลใหม่ของการประกันภัย” โดยได้ย้ำว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของทุกคน Smart Phone และอุปกรณ์ Device ต่าง ๆ เป็นเรื่องปกติไปแล้ว โควิด-19 ได้ทำให้ทุกคนคุ้นชินกับการนำเทคโนโลยีและทำให้การดำรงชีวิต ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น รวดเร็วขึ้น ภาคธุรกิจประกันภัยก็ปรับเปลี่ยนตัวเองใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเห็นได้ชัดจากเทรนด์ของรถยนต์ไฟฟ้า หรือ Electric Vehicle ถือได้ว่ามาแรงมากในขณะนี้เพราะประชาชนเริ่มหันมาสนใจเปลี่ยนเป็นรถยนต์ไฟฟ้ากันมากขึ้น ส่งผลต่อธุรกิจประกันรถยนต์อย่างมีนัยสำคัญโดยเฉพาะในเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัย อัตราเบี้ยประกันภัย รวมไปถึงการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งแตกต่างจากรถยนต์ปัจจุบันโดยสิ้นเชิง

 

อีกเทคโนโลยีที่ต้องกล่าวถึงคือ Metaverse การผสานสภาพแวดล้อมของโลกแห่งความจริงและเทคโนโลยี
เข้าด้วยกัน จนกลายเป็น "ชุมชนโลกเสมือนจริง" ที่ผสานวัตถุรอบตัวและสภาพแวดล้อมให้เชื่อมต่อกันเป็นหนึ่งเดียว โดยอาศัยเทคโนโลยี AR และ VR เข้ามาช่วยเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อให้กลายเป็นพื้นที่โลกเดียวกัน โดยคาดว่าแต่ละคนจะใช้เวลาอย่างน้อย 1 ชั่วโมงต่อวันในโลกเสมือนจริงนี้ ซึ่ง Metaverse จะก่อให้เกิดโอกาสทางธุรกิจใหม่สำหรับบริษัทประกันภัยทั้งการมีพื้นที่ในการติดต่อสื่อสารพบปะกับลูกค้าเพื่อเสนอขายและให้บริการประกันภัยสร้างการรับรู้ BrandRepresentation ในโลกเสมือน หรือจะใช้พื้นที่นี้สำหรับอบรมและสื่อสารกับพนักงานของบริษัทได้เช่นเดียวกัน

 

ดังนั้น มุมมองและรูปแบบในการดำเนินธุรกิจประกันภัยต้องเปลี่ยนไปจากรูปแบบการดำเนินธุรกิจแบบเดิม ประเด็นแรก กลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจควรมุ่งสู่ Ecosystem Strategy การดำเนินธุรกิจประกันภัยต้องเชื่อมโยงกับแพลตฟอร์มและธุรกิจอื่นมากขึ้น (Insurance Liquid Ecosystem) ทั้งภายในอุตสาหกรรมประกันภัยและระหว่างอุตสาหกรรมอื่น (Cross-industry) ความเชื่อมโยงนี้มีความหมายเกินกว่าเรื่อง Cross Selling เพราะการดำเนินธุรกิจประกันภัยไม่ใช่เพียงแค่การใช้ประโยชน์จากการเชื่อมโยงเพื่อเสนอขายในช่องทางที่หลากหลาย แต่โจทย์ใหม่ คือ ทำอย่างไรจึงจะเชื่อมโยงและเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งใน Ecosystem อื่น ๆ เพื่อสามารถให้ความคุ้มครองและบริการที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด

 

ประเด็นถัดมา คือ การขยายมุมมองของการประกันภัย จากการรับโอนความเสี่ยง (Risk Transfer) จ่ายเงินชดเชยเมื่อเกิดความเสียหาย ไปสู่การให้คำแนะนำหรือช่วยเหลือลูกค้าในการป้องกันความเสี่ยง (Risk Prevention) เพื่อมิให้เกิดความเสียหาย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ กรณีประกันภัยไซเบอร์ ซึ่งบริษัทประกันภัยในต่างประเทศจะให้บริการประเมินจุดเสี่ยง และให้คำแนะนำแก่ลูกค้าเกี่ยวกับการปิดช่องโหว่ทางไซเบอร์ หรือปรับปรุงมาตรการต่าง ๆ เพื่อลดโอกาสการถูกโจมตี ข้อมูลรั่วไหล หรือให้สามารถกู้คืนข้อมูลได้เร็วขึ้น ควบคู่ไปกับการรับประกันภัย ซึ่งเป็นผลดีกับทั้งลูกค้าและบริษัทประกันภัย ในแง่ของการลดความสูญเสียและการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ซึ่งแนวคิดนี้ควรนำมาปรับใช้กับประกันภัยประเภทอื่น ๆ ด้วย เช่น ประกันภัยรถยนต์ที่บริษัทควรมีบทบาทส่งเสริมให้ผู้ขับขี่มีพฤติกรรมการขับรถที่ดี ไม่ประมาท ลดโอกาสเกิดอุบัติเหตุและความสูญเสียบนท้องถนน ผ่านการรณรงค์ให้ความรู้ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ telematics การติด Sensor เพื่อติดตามพฤติกรรมการขับขี่ หรือ สำหรับประกันสุขภาพ ควรพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สนับสนุนให้คนมีพฤติกรรมการดำรงชีวิตที่ดีขึ้น เช่นการใช้ Wearable Devices และ IoT เข้ามาช่วย เป็นต้น ดังนั้นสิ่งที่ต้องการเน้นให้เห็น คือ เทคโนโลยีถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้บริษัทสามารถช่วยเหลือหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลูกค้าในการลดความเสี่ยงได้ง่ายขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

สำหรับความท้าทายของสำนักงาน คปภ. ในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการสนับสนุนและส่งเสริมให้ภาคธุรกิจโดยรวมสามารถปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทันท่วงที สอดคล้องกับบริบทความเสี่ยงและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงผันผวนตลอดเวลา ซึ่งบทบาทของการเป็น Facilitator สนับสนุนการดำเนินงานของบริษัทให้สามารถพัฒนาประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและเติบโตอย่างก้าวกระโดดจะเด่นชัดขึ้น ในขณะที่บทบาทของ Regulator ยังคงต้องมีอยู่เพื่อคอยดูแลและติดตามเสถียรภาพความมั่นคงของธุรกิจประกันภัยยกระดับมาตรการการดำเนินงานของธุรกิจให้เทียบเท่าสากลควบคู่ไปกับการคุ้มครองดูแลสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัยและเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้กับระบบประกันภัย ซึ่งสำนักงาน คปภ. ได้มีการดำเนินการเพื่อเร่งให้อุตสาหกรรมประกันภัยเกิดการปรับเปลี่ยนและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใน 7 มิติหลัก ๆ คือ มิติแรก การยกระดับโครงสร้างพื้นฐานข้อมูลและขยายขอบเขตการเชื่อมโยงข้อมูลการประกันภัย มิติที่ 2 การพัฒนาแพลตฟอร์มกลางเพื่อการใช้ประโยชน์ร่วมกัน มิติที่ 3 การส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่สอดรับกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและความต้องการของประชาชน มิติที่ 4 การปรับปรุงหลักเกณฑ์และนโยบายในการกำกับดูแลเพื่อเอื้อต่อการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรม มิติที่ 5 การยกระดับการป้องกันการฉ้อฉลประกันภัยด้วย AI และฐานข้อมูลขนาดใหญ่ มิติที่ 6 การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการและคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัยด้วยเทคโนโลยี และมิติที่ 7 การพัฒนาสำนักงาน คปภ. เพื่อมุ่งสู่การเป็น SMART OIC

 

ในตอนท้ายของการบรรยายหัวข้อดังกล่าว เลขาธิการ คปภ. ได้ให้ข้อแนะนำที่สำคัญสำหรับภาคธุรกิจประกันภัยในอนาคตเพื่อสร้างการเติบโตอย่างก้าวกระโดดภายใต้จักรวาลใหม่ของการประกันภัย โดยใช้หลัก “3R” คือ R ตัวแรก Reconsider Your Customer Experience ทำความเข้าใจความคาดหวังของลูกค้าพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้ตอบโจทย์และตรงใจ R ตัวที่สอง Revamp Your Business Strategy with Technology and Data ปรับโฉมกลยุทธ์ทางธุรกิจ ให้ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี และใช้ประโยชน์จากข้อมูลให้มากที่สุด และR ตัวที่สาม Reshape Your Organization with Agility and Innovation ตั้งเป้าหมายองค์กรใหม่ มุ่งสร้างนวัตกรรมด้วยเทคโนโลยี

 

โอกาสของธุรกิจประกันภัยยังมีอีกมากมาย เทคโนโลยีและนวัตกรรม จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการพาธุรกิจเข้าสู่จักรวาลใหม่นี้ หากองค์กรใด สามารถใช้เทคโนโลยีได้อย่างเหมาะสม ถูกจังหวะและเวลา จะเข้าถึงโอกาสนั้นได้ สามารถให้บริการกับกลุ่มลูกค้าและความต้องการใหม่ ๆ ที่ไม่เคยให้บริการได้มาก่อน ได้อีกมากมายมหาศาล สำนักงาน คปภ. พร้อมที่จะช่วยเสริมสร้าง เพิ่มความเข้มแข็ง สร้างสรรค์โอกาส เปิดมิติใหม่ สร้างการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ด้วยการยกระดับกรอบการกำกับดูแล ปรับหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น เพื่อให้ธุรกิจประกันภัยไทยเข้าสู่จักรวาลใหม่ New Era of Insurance Multiverse มาร่วมกันใช้ InsurTech เพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการในรูปแบบใหม่ ๆ ให้ตรงใจ และตอบความต้องการของประชาชนให้ดีที่สุด” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย 

 

 

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ