ไทยพาณิชย์ชี้ 5 สิ่งเอสเอ็มอีนำเข้า-ส่งออกควรรู้ รับมือต้นทุนขนส่ง-ราคาวัตถุดิบพุ่ง-อัตราแลกเปลี่ยนผันผวน

   เมื่อ : 22 ก.ย. 2565

ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในธุรกิจนำเข้าและส่งออก เป็นภาคธุรกิจที่มีความสำคัญของประเทศไทย แต่ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปัจจุบันที่เผชิญความไม่แน่นอนสูง กดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ต้นเหตุราคาพลังงานที่พุงสูงขึ้น กระทบต้นทุนการขนส่ง และต้นทุนการผลิต ส่งผลให้ราคาสินค้าพุ่งสูงขึ้นสวนทางกับกำลังซื้อของผู้คนในโลกเริ่มชะลอตัว รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวน ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อการธุรกิจนำเข้าและส่งออก ที่ต้องเร่งหาแนวทาง  “ลดหรือปิดความเสี่ยง” เพื่อรักษาระดับการเติบโตของธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้จัดงานสัมมนา “SME OF THE FUTURE อนาคต SMEs ไทยไปต่ออย่างไรดี รวมผู้เชี่ยวชาญในแวดวงธุรกิจชี้ทางออกให้เอสเอ็มอีกลุ่มนี้โดยเฉพาะ

 

ดร.ปุณยวัจน์ ศรีสิงห์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาภาคธุรกิจเผชิญกับสถานการณ์ราคาพลังงาน ภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น กระทบต่อต้นทุนดำเนินธุรกิจ แต่ในข่าวร้ายก็เริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น เนื่องจากปัจจุบันสถานการณ์ราคาพลังงานโลก สินค้าโภคภัณฑ์และค่าขนส่งเริ่มปรับตัวลดลงและอาจผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว แต่ยังต้องระวังเนื่องจากถึงแม้ทิศทางราคาพลังงานและเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลงแต่จะยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่ง สร้างแรงกดดันให้ธนาคารกลางในหลายประเทศยังจำเป็นต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่อง เพื่อแตะเบรกเศรษฐกิจและควบคุมเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่ากังวลคือ ความต้องการซื้อ (Demand) ในหลายประเทศลดลงอย่างเห็นได้ชัด ทั้งจากมหาอำนาจเศรษฐกิจโลกและคู่ค้าหลักของไทยอย่างสหรัฐอเมริกา และจีน ที่เริ่มเห็นสัญญาณชะลอตัวลง เมื่อเทียบกับภูมิภาคตะวันออกกลางและอาเซียนยังเติบโต ทำให้การส่งออกในระยะถัดไปมีแนวโน้มชะลอตัว

 

ทำประกันความเสี่ยงค่าเงินลดผลกระทบจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน

นายแพททริก ปูเลีย Head of Financial Markets Function ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน โดยช่วงที่ผ่านมาค่าเงินบาทอ่อนค่าลงค่อนข้างมาก สถานการณ์ดังกล่าว ผู้ประกอบการธุรกิจนำเข้าและส่งออก ควรให้ความสำคัญกับการ “ป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน” (Hedging) เพื่อล็อกราคา ลดความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจที่อาจประสบภาวะขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน โดยปัจจุบันพบว่าเอสเอ็มอีที่เป็นลูกค้าของธนาคารสัดส่วน 30% ทำการป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน เมื่อเทียบกับผู้ประกอบการรายใหญ่ที่เป็นลูกค้าของธนาคาร พบว่ามีสัดส่วนกว่า 70% ทำการป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน

 

โดยแนะว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีส่งออกและนำเข้า กลุ่มที่ได้ตกลงซื้อขายสินค้าไปแล้ว และเห็นว่ามีกำไร (Margin) เพียงพอ ควรทำการป้องกันความเสี่ยงค่าเงินไว้ในสัดส่วน 100% เพราะไม่มีเหตุผลที่ต้องรอราคา  ส่วนกลุ่มที่ขายสินค้าแล้วแต่อัตราแลกเปลี่ยนยังไม่ครอบคลุมกำไรที่ต้องการ แนะว่าควรทำการป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน สัดส่วน 50-70% เพื่อปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนบางส่วน  ขณะที่กลุ่มสุดท้ายคือ กลุ่มที่รู้ว่าจะขายสินค้าได้ แต่ไม่รู้ว่าจะขายได้เมื่อไหร่ แนะว่าเมื่อผู้ประกอบการประเมินแล้วว่าจะขายสินค้าได้ ก็ควรจะทำการป้องกันความเสี่ยงค่าเงินไว้ในสัดส่วนอย่างน้อย 50% เพื่อรอดูสถานการณ์ในอีก 3-6 เดือนข้างหน้าว่าราคาขายสินค้าควรเป็นเท่าไหร่

 

ธนาคารคือพันธมิตรทางการเงินร่วมผลักดันความสำเร็จ

นายแพททริก ยังระบุว่า อยากให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีนำเข้าส่งออก มองธนาคารเป็น “พันธมิตร” ในการให้คำแนะนำเพื่อปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนให้มากที่สุด นอกจากนี้แต่ละบริษัทควรกำหนดนโยบายด้านการการป้องกันความเสี่ยงค่าเงินให้ชัดเจน ว่าสามารถรับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน โดยอาจวางแผนไว้ตั้งแต่ต้นปี และทบทวนเป็นระยะ เพื่อให้การดำเนินการในเรื่องนี้ทำได้อย่างรวดเร็ว ทันกับความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งจะส่งผลดีต่อธุรกิจ พร้อมกับการเลือกใช้เครื่องมือในการป้องกันความเสี่ยงที่มีหลากหลายวิธี เช่น การทำ SPOT (การซื้อหรือขายเงินตราต่างประเทศ ที่มีกำหนดส่งมอบเงินภายใน 2 วันทำการ) การทำ FORWARD (สัญญาซื้อหรือขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า ที่มีกำหนดส่งมอบเงินมากกว่า 2 วันทำการขึ้นไป) การทำประกันค่าเงิน (Options)   นอกจากนี้ธนาคารยังมีบริการให้ลูกค้าสามารถ ซื้อขายเงินตราต่างประเทศผ่านช่องทางออนไลน์ได้ด้วยตนเองอีกด้วย ธนาคารอยากเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลูกค้าประเมินสถานการณ์อัตราให้ความไว้วางใจในทีมผู้เชี่ยวชาญที่จะคอยติดตามภาวะตลาด  และบริหารจัดการความเสี่ยงให้กับลูกค้า เพื่อให้ลูกค้าไปโฟกัสกับธุรกิจหลักเรื่องการหาตลาดใหม่ โดยไม่ต้องกังวลกับการป้องกันความเสี่ยงฯ

   

วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อบริหารสต็อกวัตถุดิบให้สอดคล้องกับคำสั่งซื้อสินค้าในอนาคต

นางสาวศิลินลักษ์ ตุลยานันต์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ฟู้ด อีควิปเม้นท์ จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจจำหน่ายเครื่องจักรสำหรับอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร  กล่าวว่า บริษัทมีธุรกรรมทั้งการผลิต นำเข้าและส่งออก  ในช่วงที่ผ่านมาจึงได้รับผลกระทบจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และผลกระทบจากต้นทุนค่าขนส่ง และต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น โดยการจัดการต้นทุนที่เพิ่มขึ้นนั้น จะใช้วิธี “วิเคราะห์ข้อมูล” (Data) จากสถิติย้อนหลังและแนวโน้มในอนาคตในระดับเอสเคยู ผ่านโปรแกรม ERP (Enterprise Resource Planning ) ซึ่งเป็นระบบจัดการและวางแผนการใช้ทรัพยากรที่เชื่อมโยงระบบงานต่างๆ ตั้งแต่บัญชี และการเงิน ระบบงานทรัพยากรบุคคล ระบบบริหารการผลิต รวมถึงระบบการกระจายสินค้า เพื่อคาดการณ์คำสั่งซื้อในอนาคต ก่อนจะสั่งซื้อวัตถุดิบและการขนส่งสินค้าเป็นล็อตใหญ่ล่วงหน้าเพื่อลดต้นทุนดำเนินการ หรือแม้แต่นำปริมาณซื้อ (Volume) ไปเจรจากับคู่ค้าเพื่อขอต่อรองซื้อวัตถุดิบเป็นขั้นบันไดในราคาที่ลดลงมา

“หน้าที่ของบริษัทในปีนี้คือทำอย่างไรก็ได้ให้เอาชนะโควิด ต้องตีลังกาท่าไหนถึงจะอยู่รอด และเติบโตไปได้ คือสิ่งที่ท้าทายเรามากกว่าที่จะมาวนเวียนคิดเรื่องจะขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน ถ้าเราสามารถเพิ่มวอลุ่ม หาตลาด เพิ่มยอดขาย หาตลาดใหม่ๆได้ นี่เป็นสิ่งที่สำคัญมากกว่า”

 

สร้างอำนาจต่อรองด้วยการมีซัพพลายเออร์มากกว่า 1 ราย

นางสาวณัฐธนภัสสร์ ไชยรินทร์ ผู้จัดการแผนกธุรกิจระหว่างประเทศ บริษัท ทรอปิคานา ออยล์ จำกัด ผู้ผลิตและแปรรูปมะพร้าวเป็นน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น และสกินแคร์ ส่งออกและขายในประเทศ กล่าวว่า ที่ผ่านมาบริษัทได้รับผลกระทบจากต้นทุนค่าขนส่ง ต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน  โดยนอกจากจะใช้วิธีวางแผนการจัดการวัตถุดิบล่วงหน้าจับคู่กับคำสั่งซื้อในอนาคตเพื่อลดต้นทุนแล้ว อีกวิธีการที่ใช้คือการ จัดหาซัพพลายเออร์มากกว่า 1 ราย (Second Sources) เพื่อสร้างอำนาจต่อรองทางการค้า โดยนำราคาวัตถุดิบมาประมูลว่ารายได้ให้ราคาต่ำกว่าในสเปคเดียวกัน

 

นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อลดต้นทุนในระยะยาว

นางสาวณัฐธนภัสสร์ แนะนำเพิ่มเติมว่า ผู้ประกอบการควรพิจารณาการปรับระบบการผลิตด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตมากยิ่งขึ้น ที่บริษัท ทรอปิคานา ออยล์นั้น ยังได้ปรับโครงสร้างการผลิตให้เป็นออโตเมชั่นมากขึ้น ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ทดแทนแรงงานที่หายากมากขึ้น ซึ่งกำลังเป็นปัญหาสำคัญในสายการผลิตของประเทศไทย ผลที่ได้รับคือ สามารถสร้างผลผลิตที่เพิ่มขึ้นและมีมาตรฐาน และยังเป็นการลดต้นทุนแรงงานในระยะยาว พร้อมไปกับการกลยุทธ์เพิ่มยอดขาย เจาะตลาดส่งออกที่มีศักยภาพ

 

ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถติดตามข้อมูลเคล็ดลับธุรกิจ และกิจกรรมงานสัมมนาที่จะเป็นประโยชน์สำหรับธุรกิจจากธนาคารไทยพาณิชย์และพันธมิตรทั้งภาครัฐและภาคเอกชนได้ตลอดทั้งปี รวมทั้งข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และบริการลูกค้าเอสเอ็มอี ผ่านช่องทาง website : www.scb.co.th/th/sme-banking Facebook: www.facebook.com/groups/scbsme/ หรือ ติดต่อสอบถามข้อมูลธุรกิจได้ทาง SCB SME Business Call Center โทร. 02-722-2222