กทม. ผนึก กสศ. และภาคีเครือข่าย “เดินหน้า Sandbox ป้องกันเด็ก กทม. หลุดจากระบบการศึกษา”
นำร่องพื้นที่ตัวอย่างเขตสวนหลวงแห่งแรก ลงเยี่ยมบ้าน-ทำฐานข้อมูลเด็กร่วมกับครู ชุมชน เขตพื้นที่ ย้ำ! ความเหลื่อมล้ำต้องหยุดตั้งแต่วันนี้ ส่งสัญญาณเชิงรุก ทุกโรงเรียนร่วมค้นหาผ่านความร่วมมือทุกฝ่าย
.
นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) นางสาวปิยะวรรณ จระกา สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เขตสวนหลวง นายสมพงษ์ ธนะสินธุ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดใต้ (ราษฎรนิรมิต) และคณะครู ผู้บริหารสำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร ผู้บริหารเขตสวนหลวง ประธานชุมชน และภาคีเครือข่าย ร่วมกันลงพื้นที่เยี่ยมบ้านนักเรียนในชุมชนโรงหวาย เขตสวนหลวง เพื่อค้นหาเด็กยากจนพิเศษโรงเรียนสังกัด กทม. ที่มีความเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษาเข้าสู่ระบบคัดกรองของ กสศ. เพื่อรับเงินอุดหนุนหรือทุนเสมอภาค และทำให้ กทม. มีฐานข้อมูลเพื่อส่งต่อความช่วยเหลือให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการใช้ประโยชน์ต่อไป
นายศานนท์ กล่าวว่า ที่มาของการลงพื้นที่ครั้งนี้ เนื่องจาก กทม. ยังทำข้อมูลเด็กที่มีความเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษาได้น้อยมาก ซึ่งในช่วงสองปีที่ผ่านมามีเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาจำนวนมาก ไม่เฉพาะจากเรื่องของสภาพเศรษฐกิจ แต่มีเรื่องของสถานการณ์โควิด-19 โรงเรียนประสบปัญหาไม่สามารถดึงเด็กทุกคนให้อยู่ในโรงเรียนได้ ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อการเปิดเทอมจึงมีความสำคัญมากซึ่งตนเห็นว่ามีจำนวนเด็กนักเรียนลดน้อยลง ซึ่งถ้ามีการสำรวจโดยละเอียดจริง ๆ คาดว่าจะมีเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาไปแล้วหลายพันคน จึงจำเป็นต้องค้นหาให้พบเพื่อตามกลับมา ส่วนที่ยังอยู่และมีความเสี่ยงก็ต้องหาให้เจอและรีบช่วยเหลือเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา
“ทุนการศึกษาที่ได้รับอาจไม่มาก แต่ทุกบาททุกสตางค์มีความสำคัญมากกับชุมชน การมาลงพื้นที่ครั้งนี้เพื่อให้ทุกเขตเห็นความสำคัญว่าจะต้องเยี่ยมบ้าน จะต้องช่วยกันทำข้อมูล ซึ่งวันนี้เรามีทั้ง ผอ.เขต และ ผอ.โรงเรียนมาด้วย การทำข้อมูลแบบนี้คือวิธีการเดียวที่จะทำให้ได้ข้อมูลที่แท้จริง และทุนเข้าถึงทุกคนจริง ๆ ต้องขอบคุณ กสศ. ที่เป็นเจ้าภาพในการมอบทุนนี้ และขอบคุณ ส.ก. ที่ทำงานหนัก เราเหลือเวลาอีกไม่เยอะ ขอให้ทุกเขตเร่งลงพื้นที่สำรวจเด็กที่มีความเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษาให้แล้วเสร็จโดยเร็วตามระยะเวลาที่กำหนดในเดือน ก.ย. นี้ เพราะข้อมูลจะไม่ใช่เพื่อในวันนี้เท่านั้น แต่จะเป็นฐานข้อมูลคนในชุมชนและเด็กที่มีความเสี่ยงเด็กหลุดนอกระบบที่นำไปใช้ต่อได้”
นายศานนท์ กล่าวต่อไปว่า เรื่องนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของการศึกษาเท่านั้น แต่ยังบ่งบอกถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำทางสังคมในอนาคต หากเด็กหลุดออกนอกระบบในวันนี้ อาจจะกลายเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้ ถ้าสังคมสามารถปิดหรือหยุดได้ตั้งแต่ตอนนี้ ก็จะทำให้ความเหลื่อมล้ำในสังคมหายไปเร็วขึ้น ถ้าไม่เริ่มต้นก็จะช้าไปทุกวัน โดยในวันนี้ กทม. ได้ประชุม Teleconference ร่วมกับ 437 โรงเรียน และฝ่ายการศึกษาของเขตทั้ง 50 เขต เพื่อวางแผนเก็บข้อมูลนักเรียนลงระบบ กสศ. ให้ได้เร็วที่สุด เพื่อนำไปขยายผลดำเนินการเรื่องอื่นเพิ่มเติมในอนาคตได้
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า การส่งเสริมความเสมอภาคด้านการศึกษา ความร่วมมือสำคัญที่สุด เพราะหน่วยงานด้านการศึกษาอย่างเดียวไม่เพียงพอแก้ปัญหาโดยลำพัง หากได้ข้อมูลชุดนี้มาจะทำให้ กทม. มีข้อมูลระดับครัวเรือน ซึ่งข้อมูลจะเป็นมากกว่าแค่เรื่องการศึกษาโดยตรง แต่จะทราบได้ถึงชีวิตและความเป็นอยู่ด้วย เพื่อทำให้รู้ว่าจะต้องเพิ่มเติมอะไรต่อไปบ้าง ไม่ว่าจะเป็นนโยบายด้านการศึกษา การส่งเสริมสุขภาพ หรือการส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กยศ. เพื่อให้ได้รับการสนับสนุนด้านการศึกษาต่อเนื่องไปได้ ข้อมูลชุดนี้จะสะท้อนความเหลื่อมล้ำในหลายมิติ กสศ. เองก็จะสามารถสนับสนุนทุนให้กับนักเรียน กทม. ได้ และในอนาคต หากมีการค้นเจอเพิ่มเติมก็จะสนับสนุนให้ได้มากที่สุด
“เราทราบดีว่าการลงพื้นที่สำรวจชุมชนในกรุงเทพฯ มีความลำบาก ไม่ใช่เรื่องง่าย หลายพื้นที่มีความแออัด หรือเป็นพื้นที่ปิด เข้าไปได้ยาก การสำรวจของคุณครูหรือโรงเรียนเพื่อติดตามปัญหาจึงต้องการการสนับสนุนจากเขตหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อทำให้การเยี่ยมบ้านสามารถทำได้ ที่ผ่านมา กทม. อาจไม่เคยทำฐานข้อมูลแบบนี้ บวกเข้ากับสถานการณ์โควิด-19 ทำให้โรงเรียนปิดมานาน การมาลงพื้นที่ชุมชนโรงหวายวันนี้ จึงมาจากความตั้งใจว่า แม้จะเป็นชุมชนที่มีความซับซ้อนเข้าถึงยากซึ่งมีชุมชนลักษณะนี้เต็มไปหมด แต่ที่เขตสวนหลวงสามารถทำได้ โรงเรียนวัดใต้เริ่มแล้ว จึงอยากให้อีก 436 โรงเรียนที่เหลือเริ่มขยับลงพื้นที่ทำข้อมูลให้เสร็จภายในวันที่ 30 ก.ย. นี้ ครูคือพลังสำคัญในการค้นหาเพื่อให้ กสศ. สามารถจัดสรรงบประมาณได้ ซึ่งตอนนี้เรามีแอปพลิเคชันเพื่อให้สามารถเยี่ยมบ้านแบบออนไลน์ได้ เพราะเข้าใจดีว่าบางพื้นที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึง แต่เราก็อยากให้มีการคัดกรองให้ได้มากที่สุด”
ดร.ไกรยส กล่าวอีกว่า การลงพื้นที่วันนี้ได้รับการสนับสนุนจากทาง กทม.,ผอ.เขต ,ส.ก. ชุมชน และทางโรงเรียนอย่างเต็มที่ เป็นการยืนยันว่าทุกฝ่ายให้ความสำคัญ ซึ่งข้อมูลชุดนี้จะใช้ประโยชน์ต่อไปได้ในระยะยาว ส่วนเหตุผลที่เลือกเขตสวนหลวงเป็นที่แรก เพราะจากที่ประชุมของ กทม. เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2565 ทาง ส.ก. ให้ความสำคัญมาก และเป็นพื้นที่ที่มีชุมชนลักษณะเดียวกันกับชุมชนโรงหวายหลายแห่ง รอบ ๆ พื้นที่จะเห็นอาคารสูง มีคอนโดมิเนียมมากมาย แต่พอเข้ามาข้างในจะมีเมืองซ้อนเมือง ชุมชนซ้อนชุมชนอยู่ ประกอบกับผู้นำชุมชนและทางโรงเรียนพร้อมให้การสนับสนุน จึงมาลงพื้นที่ชุมชนโรงหวายพร้อมกันเป็นที่แรก
“ถ้าเราเริ่มต้นที่เขตสวนหลวงได้ก็จะเป็นต้นแบบให้เขตอื่น ๆ ที่เหลือ เพราะเราพบว่าหลายครั้งมีเด็กที่เรียนในโรงเรียนคร่อมเขตกัน ในหนึ่งชุมชนอาจมีเด็กเรียนหลายโรงเรียน เราจึงต้องการข้อมูลที่ชัดเจนเพื่อให้เห็นภาพตรงกันและบูรณาการได้ ข้อมูลชุดนี้นอกจาก กสศ. สามารถใช้ในการคัดกรองเพื่อจัดสรรทุนให้แล้ว ทาง กทม. ก็จะนำไปใช้เพื่อของบประมาณทุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนจากนโยบายเรียนฟรี 15 ปีได้ ซึ่งปัจจุบันทาง กทม. ยังไม่ได้รับการจัดสรรทุนนี้ ในขณะที่ สพฐ. และ อปท. ได้รับการจัดสรรแล้ว ดังนั้นหากมีข้อมูลนี้เด็กจะได้รับเงินจากทั้ง 2 ทาง จะได้รับทุนตั้งแต่ 1,000 - 6,000 บาท ขึ้นกับระดับการศึกษาและระดับความยากจน”
ขณะที่ นางสาวปิยะวรรณ จระกา ส.ก.เขตสวนหลวง กล่าวว่า เป็นเรื่องน่าเหลือเชื่อที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศ แต่ไม่มีข้อมูลพื้นฐานนักเรียนยากจน เขตสวนหลวง มีโรงเรียนในสังกัด กทม. 8 โรงเรียน ซึ่งในการค้นหาเด็กที่มีความลำบาก ครูจะมีความใกล้ชิดและรู้ข้อมูลดีที่สุด ตนพร้อมสนับสนุนการไปในพื้นที่ต่าง ๆ สาเหตุตนที่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้มาก เพราะอยากให้เด็กทุกคนได้รับโอกาสทางการศึกษา เนื่องจากเชื่อว่า การศึกษาคือเครื่องมือในการลดความเหลื่อมล้ำได้ดีที่สุด จึงอยากให้ทุกเขตมาร่วมกันทำเรื่องนี้
ด้าน นายสมพงษ์ ธนะสินธุ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดใต้ (ราษฎรนิรมิต) กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเหมือนฝันที่เป็นจริง แม้ว่าการติดตามสังเกตนักเรียนหรือการเยี่ยมบ้านเป็นสิ่งที่ทางโรงเรียนทำอยู่แล้วเป็นปกติ แต่ในช่วงโควิด-19 ทำให้เกิดระยะห่างขึ้น และที่ผ่านมาข้อมูลก็ไม่ได้มีการนำไปเชื่อมต่อกับฐานข้อมูลใด เป็นการหาวิธีช่วยเหลือเป็นรายกรณีไป ไม่มีกระบวนการส่งต่อหรือสามารถสนับสนุนทางการศึกษาในระดับที่สูงขึ้นไปได้
“คงไม่มีใครอยากอยู่ในสภาพแบบนี้ แต่บางทีเราก็ไม่มีเครื่องมือช่วย การเข้ามาของ กสศ. คือการมาพร้อมเครื่องมือ มีการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ มีความช่วยเหลือมาให้ ผมเชื่อว่าจะช่วยเด็กได้อีกมาก เราไม่รู้หรอกว่าโตขึ้นเขาจะเป็นอย่างไร แต่หากมีโอกาส บางทีสักคนหนึ่งที่ได้รับการช่วยเหลือในวันนี้ อาจเป็นหมอ เป็นพยาบาลที่จะมาช่วยชีวิตเราในอนาคตก็ได้”
สำหรับการคัดกรองนักเรียนยากจนพิเศษของกองทุนเสมอภาคทางการศึกษา จะมีวิธีการจากการวัดรายได้ทางอ้อมแบบ Proxy Means Test: PMT โดยดูจากรายได้สมาชิกในครัวเรือนไม่เกิน 3,000 บาทต่อคนต่อปี และสถานะครัวเรือน 8 ด้าน ได้แก่ 1. ครอบครัวมีภาวะพึ่งพิง 2. การอยู่อาศัย 3. ลักษณะที่อยู่อาศัย 4. ที่ดินทำการเกษตรได้ 5. แหล่งน้ำดื่ม 6. แหล่งไฟฟ้า 7. ยานพาหนะ และ 8. ของใช้ในครัวเรือน นักเรียนที่ผ่านการคัดกรองจะรับการสนับสนุนทุนการศึกษาจาก กสศ. ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 3 ปีการศึกษา ระดับอนุบาล รับทุนการศึกษา 4,000 บาทต่อคนต่อปี ระดับประถมศึกษาถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (ป.1 – ม.3) รับทุนการศึกษา 3,000 บาทต่อคนต่อปี
ปีงบประมาณ 2565 กสศ. จัดเตรียมงบประมาณสนับสนุนทุนการศึกษาให้เด็กนักเรียนสังกัด กทม.จำนวน 5,000 ทุน อย่างไรก็ตาม หากข้อมูลที่มีการจัดเก็บในครั้งนี้ พบว่า มีเด็กที่ผ่านการคัดกรองและเข้าหลักเกณฑ์ที่กำหนดเกิน 5,000 คน จะมีการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อให้ได้รับทุนการศึกษาจากงบประมาณปี 2566 ที่จะมอบให้ในภาคเรียนที่ 2 ต่อไป