“สมาคมธนาคารไทย” ประกาศเจตนารมณ์ด้าน ESG  ขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

   เมื่อ : 29 ส.ค. 2565

สมาคมธนาคารไทย ประกาศเจตนารมณ์ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG Declaration) เพื่อกำหนดทิศทางที่ชัดเจนร่วมกันของอุตสาหกรรมธนาคาร โดยมุ่งแก้ปัญหาเชิงรุกด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล สร้างความตระหนักรู้แก่ผู้มีส่วนได้เสีย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่ความยั่งยืน การประกาศเจตนารมณ์ในครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญอย่างยิ่งสำหรับภาคการธนาคารไทย ตอกย้ำความมุ่งมั่นด้านการธนาคารที่ยั่งยืน หลังร่วมวางรากฐานกรอบการดำเนินงานของอุตสาหกรรมธนาคาร ตามแนวทางการธนาคารเพื่อความยั่งยืนในด้านการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ และหลักการธนาคารที่รับผิดชอบขององค์การสหประชาชาติ 

 

ภายใต้เจตนารมณ์ดังกล่าว สมาคมธนาคารไทยได้กำหนดแนวทางสำคัญเพื่อร่วมแก้ไขปัญหา โดยคำนึงถึงความเสี่ยงและโอกาสใหม่ ๆ ในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความหลากหลายและสิทธิมนุษยชน การเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างครอบคลุมและการจัดการปัญหาความไม่เสมอภาค ทั้งนี้ ภาคการธนาคารพร้อมสนับสนุนประเทศไทยให้เปลี่ยนผ่านได้อย่างราบรื่น บนเส้นทางสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติและพันธกิจของประเทศที่มีต่อความตกลงปารีส 

 

โดยธนาคารสมาชิกของสมาคมธนาคารไทยได้เห็นชอบร่วมกันในการดำเนินการตามแนวทางสำคัญ 6 ประการ ดังนี้

 

1)        ธรรมาภิบาล : มีระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดี และดำเนินการกำกับดูแลได้อย่างมีประสิทธิผลในระดับคณะกรรมการ โดยกำหนดภาระและขอบเขตความรับผิดชอบที่ชัดเจนในระดับการจัดการในเรื่องที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล

2)        ยุทธศาสตร์ : บูรณาการพันธกิจด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เข้ากับยุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจและกำหนดกรอบด้านการเงินที่ยั่งยืน โดยสนับสนุนเพื่อให้ประเทศสามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้อย่างราบรื่น

3)        การบริหารความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล :  ผนวกรวมประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ไว้ในกระบวนการบริหารความเสี่ยง

4)        ผลิตภัณฑ์ทางการเงิน : ปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงิน รวมทั้งนวัตกรรมทางการเงินที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยั่งยืน

5)        การสื่อสาร : สื่อสารและประสานความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนในการสร้างจิตสำนึกสาธารณะด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล

6)        การเปิดเผยข้อมูลทางการเงิน : พัฒนาระบบการติดตามและการรายงานที่สอดคล้องกับกรอบการกำกับดูแลของประเทศไทยและมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนในระดับสากล

 

 

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การประกาศเจตนารมณ์ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลของสมาคมธนาคารไทยในวันนี้ ได้ย้ำให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของธนาคารพาณิชย์ไทยในการผนวกรวมมิติด้านความยั่งยืน เข้าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมและการดำเนินธุรกิจของภาคการเงิน โดยกำหนดแผนดำเนินงาน กรอบเวลา และการประเมินผลสัมฤทธิ์ ที่ชัดเจน ซึ่งถือเป็นอีกก้าวสำคัญในการเตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทายด้านความยั่งยืน โดยเฉพาะในมิติด้านสิ่งแวดล้อมที่สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงรุนแรงขึ้นมาก ซึ่งสอดรับกับแนวนโยบายของ ธปท. ที่ได้จัดทำทิศทางการพัฒนาสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ภายใต้ภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย ทั้งนี้ ธปท. พร้อมสนับสนุนธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งเพื่อช่วยให้การเปลี่ยนผ่านของระบบเศรษฐกิจไทยสู่การเติบโตบนพื้นฐานของความยั่งยืน มีความราบรื่นและทันการณ์ 

 

 

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการสมาคมธนาคารไทย CEO Co-sponsor ด้าน Sustainability ซึ่งดำเนินการร่วมกันระหว่างธนาคารกสิกรไทยและธนาคารกรุงศรีอยุธยา และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวในนามสมาคมธนาคารไทยว่า ในฐานะตัวกลางทางการเงินที่มีความรับผิดชอบ สมาคมธนาคารไทยตระหนักถึงความเร่งด่วนและความรุนแรงของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  รวมถึงการขับเคลื่อนประเทศสู่ความยั่งยืน ซึ่งเจตนารมณ์ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลนี้ เน้นย้ำให้เห็นถึง ความตั้งใจอันแน่วแน่ของภาคธนาคารไทยที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน เพื่อนำพาเศรษฐกิจให้เจริญก้าวหน้าและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น โดยสมาคมฯ และธนาคารสมาชิกจะร่วมแรงร่วมใจผลักดันให้เกิดผลลัพธ์ด้านต่าง ๆ อีกมากในอนาคตอันใกล้นี้ เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายที่ทุกฝ่ายได้ตกลงร่วมกัน

 

สมาคมธนาคารไทย ขอให้คำมั่นที่จะดำเนินการตามเจตนารมณ์ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยความโปร่งใสและยืดหยุ่น เพื่อให้การทำงานระหว่างธนาคารสมาชิกสอดประสานบนมาตรฐานเดียวกันภายใต้หลักการ “ปฏิบัติตามให้มากที่สุดหรือชี้แจงเหตุผลในกรณีไม่สามารถปฏิบัติได้” (Comply or Explain) โดยจะจัดทำคู่มือที่ระบุรายละเอียดการดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง  กรอบเวลา และตัวชี้วัดผลการดำเนินงานสำหรับแต่ละองค์ประกอบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลต่อไป

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ